ลาวต่อยอดรถไฟจีน สยายปีกสู่ฮับขนส่งภูมิภาค

สปป.ลาวตั้งเป้าขึ้น Transit Hub อาเซียน หลังเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟและมอเตอร์เวย์ ดันความร่วมมือไทยหนุนการขนส่ง – ท่องเที่ยว รับเปิดประเทศครึ่งปีหลังนี้ มั่นใจหากไทยเปิดไฮสปีดไทย-จีน จะเพิ่มศักยภาพการขนส่งเชื่อมภูมิภาค

“การเปิดให้บริการรถไฟลาวจีน ก่อให้เกิดธุรกิจการให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของ สปป.ลาว โดยรถไฟเส้นดังกล่าว ปัจจุบันให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 2 เที่ยวต่อวัน ได้การตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ปริมาณผู้โดยสารเต็มเกือบทุกเที่ยว และเชื่อว่าหากโควิด-19 คลี่คลาย จะมีการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติจากจีน ไทย รวมถึงหลายประเทศในอาเซียน”

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของบุญเหลือ สินไซวอระวง รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงินแห่งสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่กล่าวถึงปรากฎการณ์การเดินทางข้ามประเทศด้วยรถไฟในภูมิอาเซียน นอกจากนี้สปป.ลาวยังมีโครงการทางด่วนที่จะเชื่อมโยงไปยังจีน และเวียดนาม

ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายผลักดันให้สปป.ลาวเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค หรือ Transit Hub ซึ่งนอกจากรถไฟลาว-จีน แล้วปัจจุบันมีแผนจะพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าในหลายเมือง เช่น เมืองบ่อเต็น รวมไปถึงท่าเรือบกอีก 10 แห่ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล หากพัฒนาสำเร็จจะเป็นผลบวกต่อการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนไปยังจีน และยุโรป

“Transit Hub มายังประเทศไทยผ่านจังหวัดหนองคาย ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยจากข้อมูลที่มีในขณะนี้พบว่าสินค้าจากไทยไปจีนมี 17 ล้านตู้ต่อปี หากมีรถไฟเชื่อมลาวจีนไทย ทำให้สินค้าไทยไปถึงจีน ใช้เวลาเร็วขึ้น ต้นทุนถูกลง และสามารถเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากจีนไปยังตลาดยุโรป”

ขณะที่การขนส่งสินค้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งด่านศุลกากร ระเบียบการการขนส่งในด้านเอกสาร การประสานงานหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟลาวจีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดว่าจะพร้อมเต็มรูปแบบได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งจะทำให้การปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น

บุญเหลือ ยังกล่าวด้วยว่า การขนส่งจากชายแดนไทยที่ด่านขนถ่ายสินค้าจังหวัดหนองคาย ท่าเรือบกท่านาแล้ง มีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ด่านการค้าทางฝั่งจีนบริเวณบ่อเต็นยังมีอุปสรรคเล็กน้อยในเรื่องของขั้นตอนศุลกากร ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ

ทั้งนี้ หากไทยเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ที่จะเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดหนองคายและต่อกับรถไฟลาวจีน แล้วก็เชื่อว่า จะเป็นโอกาสต่อการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยและลาวอย่างชัดเจน โดยโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับไทย นอกจาก สปป.ลาวจะเป็นเสมือน Transit Hub ขนส่งสินค้าให้แล้ว ยังจะมีโอกาสในการเดินทางเชื่อมต่อของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาจากจีนด้วย โดยคาดว่าจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเฉลี่ยปีละ 3 – 4 ล้านคน

อย่างไรก็ดี สปป.ลาวยังคาดหวังหากไทยทำความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน โดยขณะนี้ สปป.ลาวยังมีแผนเตรียมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว

โดยกำหนดทยอยเปิดรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ในลักษณะของ Green Zone แบ่งเป็น 3 เดือนแรกปีนี้ ม.ค. – มี.ค. 2565 เปิดรับนักท่องเที่ยวในเมืองเวียงจันทร์ หลวงพระบาง และวังเวียง ส่วนอีก 3 เดือนถัด หรือ เม.ย. – มิ.ย.2565 จะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 10 เมือง และในช่วงครึ่งปีหลัง ระหว่าง ก.ค. – ธ.ค.2565 จะกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเหมือนในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด โดยตั้งเป้าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ

ด้านสุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ สปป.ลาว กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อเป็นศูนย์รับการกระจายสินค้าในหลายเมือง เช่น พัฒนาท่านาแล้ง รองรับขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน 3-5 แสนตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอื่นๆ เพิ่มเติมที่เป็นลักษณะการให้สัมปทานภาคเอกชนในการดำเนินงานก่อสร้างแบบ BOT เช่น โครงการทางด่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเฟสแรกในปีที่ผ่านมา ช่วยลดเวลาเดินทาง ด่วนเวียงจันทน์ถึงวังเวียง มีการเปิดใช้ลดระยะเวลาเดินทางเหลือ 1 ชม จาก 4 ชั่วโมง โดยปัจจุบันยังเหลืออีก 3 เฟสที่จะทยอยพัฒนา ได้แก่ ช่วงวังเวียง – หลวงพระบาง ช่วงหลวงพระบาง – อุดมชัย และช่วงอุดมชัย – บ่อเต็น

“เส้นทางแรกของโครงการมอเตอร์เวย์ เบื้องต้นน่าจะมีการพัฒนาในช่วงอุดมชัย – บ่อเต็นเป็นส่วนแรก เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับฝั่งจีน เป็นโอกาสที่จะสนับสนุนการขนส่งและเดินทาง นอกจากนี้เรายังมีโครงการพัฒนาทางด่วนที่จะเชื่อมไปชายแดนเวียดนาม และก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับทางด่วนไปเวียดนามได้ด้วย”

 

ที่มา – https://www.bangkokbiznews.com/business/989142

Scroll Up