ไฮสปีดเทรนสามสนามบิน จุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ

ไฮสปีดเทรนสามสนามบิน หนึ่งภารกิจสำคัญที่จะเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเริ่มจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มุ่งหวังจะให้เกิดการจ้างงาน การค้า ลงทุน นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม

การพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักบนพื้นที่เป้าหมายที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ นั่นคือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC

ก้าวสำคัญของการพัฒนาพื้นที่EEC

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ถูกหยิบยกมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกในพื้นที่ EEC เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยจะเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ ให้คนไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีระบบรางความเร็วสูงคนไทยได้รับการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้น มีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

จุดเด่นของรถไฟความเร็วสูง คือตรงเวลา ปลอดภัย สิ้นเปลืองพลังงานน้อย เมื่อเทียบกับขนส่งประเภทอื่นๆ นอกจากนั้นยังช่วยกระจายความแออัดของเมืองไปสู่เมืองรองโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ยังจะเข้ามาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนใน EEC นับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในภาคตะวันออกและพื้นที่โดยรอบ และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจนำความเจริญสู่ชุมชนเกิดการกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ถือเป็นโครงการพื้นฐานหลักในการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้มีผลเป็นรูปธรรมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

Return of Investment & Return of Society

ด้วยเม็ดเงินในการลงทุนถึง 224,544 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมทุน 50 ปี โดยทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC มีการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไว้สูงถึง 650,000 ล้านบาท โดยจะมีรายได้จากค่าเช่าที่รายได้ค่าให้สิทธิแอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากภาษี นอกจากนี้คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และนำไปสู่การจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปีข้างหน้า

รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้นจากอาชีพใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจากการพัฒนาโครงการฯ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างงานและความเจริญตามมาให้กับในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการจ้างงานในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เช่น วิศวกรระบบราง งานออกแบบตกแต่งภายใน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในโครงการ เป็นต้น ขณะเดียวเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ยังทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆได้อานิสงส์ตามมาจนเกิดเป็นธุรกิจ การจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ธุรกิจด้านคมนาคมและการขนส่งสินค้า ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า พนักงานควบคุมการขนส่งสินค้า ฯ รวมไปถึงธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตและการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แรงงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจบริการเพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยว ทั้งในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก บริษัททัวร์ ต่างๆ ตลอดจนเกิดการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต เช่นหลักสูตร วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมระบบอาณัติสัญญาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบราง และเทคโนโลยีต่าง ๆ จากต่างประเทศมาสู่คนไทย ด้วยความร่วมมือจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ได้เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีกด้วย

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้จะเกิดเมืองใหม่ตามนโยบายของ EEC โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงจะกลายเป็นศูนย์กลางของระบบการขนส่งของเมืองนั้นๆ ที่จะสนับสนุนและเชื่อมเมืองให้สอดรับกับการพัฒนาประเมินกันว่าภายใน 10 ปี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะเชื่อมโยงและเพิ่มศักยภาพให้ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยองเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยจะเกิดกระบวนการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองแห่งอนาคตหรือ Smart City เช่น ฉะเชิงเทรา จะเป็นเมืองพักอาศัยชั้นดีที่รองรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพและพื้นที่EEC ศรีราชา เมืองหลวงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ พัทยา ศูนย์กลางการประชุม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

สรุป

ต้องยอมรับว่าการพัฒนาประเทศที่สำคัญที่สุด คือการชิงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากโดยไทยวางยุทธศาสตร์ให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงกายภาพภูมิประเทศของไทยถือเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นับเป็นจิ๊กซอตัวหนึ่งของยุทธศาสตร์ข้างต้น ดังนั้นจึงถือเป็นก้าวสำคัญของพื้นที่อีอีซีที่ช่วยยกระดับประเทศไทยค่อยๆขยับเข้าสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ช่วยยกระดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก

ที่มา : www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/72966

Scroll Up