วันนี้เรามาดูกันถึงเรื่องความเชื่อมโยงของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่าง สปป.ลาวและประเทศจีน หากมองดูที่ GMS Country ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ
GMS Country ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนามและจีน (ยูนนาน) สปป.ลาว ถือว่าเป็นสะพานในการเชื่อมต่อจากประเทศจีน เข้าสู่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเหล่านี้ ซึ่งมีประชากรรวมกันทั้งหมดอยู่ที่ประมาณกว่า 250 ล้านคน
การที่กลุ่มประเทศนี้ที่มีประชากรอยู่จำนวนมาก และมีการเชื่อมต่อเส้นทางโดยรถไฟความเร็วสูงซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายรูปแบบ ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจที่ลดเรื่องของต้นทุน ลดระยะเวลาการเดินทาง มีความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้ารวมถึงเพิ่มมูลค่าเรื่องของการท่องเที่ยวให้แก่ สปป.ลาวได้อีกด้วย
ใน สปป.ลาวมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่คงความดั้งเดิมและอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ถ้ำกองลอ (Kong Lor) ซึ่งมีระยะทางยาวอยู่ที่ 7-10 กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังมีถ้ำอื่นๆ ที่ค้นพบใหม่มีระยะทางยาวกว่า 40 กิโลเมตร บรรยากาศและอุณหภูมิที่เย็นสบาย สวยงามตามธรรมชาติแตกต่างจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง เป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
การที่ สปป.ลาวยังคงมีธรรมชาติอยู่เยอะและสวยมาก เพราะฉะนั้น การที่มีรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่เพียงแค่ สปป.ลาวเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่ประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์มากด้วยเช่นกัน
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าถ้าหากรถไฟจากกรุงเทพฯ สามารถเชื่อมต่อถึง จ.หนองคายได้สำเร็จ จะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่คึกคักเพิ่มมากขึ้นอีกเมืองหนึ่ง
จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวในกรุงเทพฯ ปีละกว่า 22 ล้านคน ซึ่งนับเป็นจำนวนมากที่สุดในโลกครองสถิตินี้มาถึง 4 ปีติดต่อกัน
หากวันนี้รถไฟจากคุนหมิงสามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่กรุงเทพฯ ของประเทศไทยได้ จำนวนนักท่องเที่ยวก็จะเพิ่มตามมาด้วย
แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาโดยเฉพาะในส่วนของการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟของประเทศไทยเข้าด้วยกัน ปัจจุบันยังต้องอาศัยแรงผลักดันการสนับสนุนด้านนโยบายและการบริหารจัดการที่ดีจากรัฐบาล
วันนี้เรามีต้นแบบเรื่องการพัฒนา ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ คือ ประเทศจีน
จะเห็นได้ว่าประเทศจีนเริ่มสร้างรถไฟความเร็วสูงมาตั้งแต่ปี 2547 เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีต้นแบบจากประเทศเยอรมนี บริษัทซีเมนต์ฯ และคาวาซากิ ปัจจุบันประเทศจีนสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้รวมระยะทางกว่า 36,000 กิโลเมตร นับเป็นเศษ 2 ส่วน 3 ของ รถไฟความเร็วสูงที่ทั้งโลกที่มีอยู่ซึ่งสร้างโดยบริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่นฯ ประเทศจีน
อีกหนึ่งกรณีที่น่าศึกษาล่าสุดคือ สปป.ลาว การให้ผู้ลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการ โดยกำหนดเงื่อนไขการลงทุนที่ชัดเจน ภายใต้การดำเนินงานที่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศที่ควรได้รับ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการเจรจาต่อรองและวิสัยทัศน์ของผู้นำ
หากรัฐบาลไทยต้องการให้เกิดการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน การทำประเทศให้เป็น “แลนด์ลอร์ด” ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจศึกษา
เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจีนใช้ในการพัฒนาประเทศ คือการใช้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินและอนุญาตให้เอกชนเข้ามาลงทุนบนพื้นที่ที่มีอยู่ สร้างทางด่วน สร้างอุโมงค์ กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนในการเข้ามาลงทุน การเรียกเก็บค่าใช้บริการ สัดส่วนการแบ่งรายได้ให้แก่รัฐบาล
โดยที่รัฐบาลลดภาระต้นทุนการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชนได้ และยังมีรายได้เข้าสู่ประเทศในระยะยาวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน เพราะประเทศไทยเป็นสะพานของประเทศจีนที่จะลงสู่ตอนใต้ ไม่มีประเทศไหนในอาเซียนที่จะสำคัญเท่ากับประเทศไทย
เพราะประเทศอื่นๆ อาทิ เมียนมา เวียดนาม ถูกทะเลกั้นขวางเอาไว้หมด มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่จะสามารถใช้เส้นทางบกหรือราง วิ่งลงสู่ทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศมาเลเซียได้
เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจึงเป็นทำเลยุทธศาสตร์สำคัญที่น่าลงทุนเป็นอย่างมากสำหรับประเทศจีนในการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อทางรถไฟ
ส่วนตัวผมมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่รัฐบาลไทยน่าจะศึกษา เพราะจะไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนหรือความเสี่ยงเรื่องของการลงทุนสำหรับการพัฒนาโครงการนี้
แต่ถึงอย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังคงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่าง จีน ญี่ปุ่น รวมถึงอเมริกา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะการถูกครอบงำทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางการสร้างความสมดุลนี้ เราอาจจะทำได้โดยการจัดสรรการทำงานตามศักยภาพหรือความเชี่ยวชาญ
อาทิ บริษัทก่อสร้างที่จะเข้ามาลงทุนอาจจะยกให้กับประเทศจีน บริษัทเงินกู้หรือสถาบันการเงินที่ต้องใช้เพื่อการลงทุนสนับสนุนระบบเศรษฐกิจขอใช้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ธนาคารโลกหรือ World Bank
และสุดท้ายเรื่องของการก่อสร้างต้องมีการส่งเสริมหรือเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นมีส่วนร่วมในโครงการด้วยเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน
คอลัมน์ : เรื่องเล่าจากวิกรม
วิกรม กรมดิษฐ์
facebook : Vikrom วิกรม
ที่มา – https://www.bangkokbiznews.com/columnist/984614