แอร์พอร์ตลิงก์ สรุปแผนส่งมอบ”ซีพี” ต.ค. 64 ตามสัญญา เร่งปรับปรุงตู้ขนกระเป๋า รับผู้โดยสารเพิ่มอีก1หมื่นคน แนะสำรองอะไหล่เพื่อซ่อมใหญ่ 9 ขบวน วิ่งครบ 3.6 ล้านกม. ปี 65 ขณะที่เร่งอบรมบุคลากร ทดสอบเดินรถสีแดง มี.ค.
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผยว่า การส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ให้กลุ่มซีพี เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม.
ซึ่งตามสัญญากำหนด ส่งมอบภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 นั้น ขณะนี้ ซีพี ได้ทำดิวดิลิเจนซ์ (due diligence) เสร็จแล้ว และจัดทำเอกสารแผนการดำเนินงาน ส่งมอบ มีการตรวจสอบสินทรัพย์ สภาพของรถไฟฟ้าทั้ง 9 ขบวน
ทั้งนี้ ทาง ซีพี มีแผนปรับปรุง ตู้สัมภาระเป็นตู้โดยสารจำนวน 4 ตู้ โดยขบวนแรกคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเดือนต.ค. 64 และทยอยปรับปรุงครบทั้ง 4 ตู้ในปี 65 ซึ่งจะทำให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 10,000 คนต่อวัน โดยจะเพิ่มความจุรวมจาก 80,000 คน ได้สูงสุดเป็น 100,000 คนต่อวัน
นอกจากนี้ ซีพี จะต้องปรับระบบอาณัติสัญญาณเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง รวมถึงอัพเดทระบบสื่อสารต่างๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น
สำหรับรถทั้ง 9 ขบวนนั้น ปัจจุบัน วิ่งเป็นระยะทางรวม 2.8 ล้านกม. ซึ่งจะครบรอบการซ่อมบำรุงใหญ่ (overhaul) เมื่อการวิ่งครบระยะทาง 3.6 ล้านกม. ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปี 65 ดังนั้น เมื่อซีพีจะต้องเตรียมแผนสำรองอะไหล่สำหรับการ overhaul ตั้งแต่ปี 64
เร่งอบรมบุคลากร พร้อมเดินรถสีแดง มี.ค.นี้
ส่วนการเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินรถโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันนั้น จาก ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้เพิ่มพันธกิจให้บริษัทเดินรถไฟสายสีแดง และได้อนุมัติกรอบวงเงิน 61 ล้านบาท สำหรับดำเนินการตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 – ต.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 11 เดือน
ที่ผ่านมา บริษัทฯได้เปิดรับบุคลากรจำนวน 256 คน โดยได้เริ่มทำการฝึกอบรมตั้งแต่เดือนม.ค.64 เพื่อรองรับการเปิดเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ที่จะเริ่มในเดือนมี.ค.นี้ สำหรับ การเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งกำหนดในเดือนพ.ย. 64 นั้น จะต้องมีบุคลากรในการให้บริการประมาณ 700-800 คน ซึ่งจะมีพนักงานของแอร์พอร์ตลิงก์ ที่โอนย้ายไปเดินรถสายสีแดง
“ พนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 76 คนที่ได้เข้ารับการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้จาก กิจการร่วมค้าMHSC (มิตซูบิชิ,ฮิตาชิ,สุมิโตโม) ครอบคลุมทั้งเรื่อง ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า พนักงานขับรถ ด้านระบบวิศวกรรม ซ่อมบำรุง ด้านความปลอดภัย และด้านสถานี จะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และอบรมพนักงาน 256 คนที่เพิ่งรับเข้ามา ส่วนการเปิดเดินรถเสมือนจริง ทางรฟท.จะเป็นผู้กำหนดแผนการเดินรถ ซึ่งจะแบ่งเป็นเฟส จนถึงช่วง Soft Opening ที่คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทดสอบก่อนเปิดใช้จริง“
ที่มา : MGR ONLINE