สกพอ.เตรียมชง ‘ปราจีนบุรี’ เข้าเขต EEC จังหวัดที่ 4 เพื่อพื้นที่รับการลงทุน

เลขาธิการอีอีซี เผย ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ปี 2561 – ไตรมาส 3 ปี 2567 มีมูลค่า 1,731,625 ล้านบาท พร้อมการผลักดันเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ EEC เพื่อกิจการพิเศษ  เตรียมชง”ปราจีนบุรี” เป็นพื้นที่อีอีซีเพิ่ม

นายจุฬา  สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี บรรยายพิเศษ เรื่อง “EEC UPDATE” ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 42 ว่า  การขับเคลื่อนแผนงาน EEC ที่ผ่านมา ได้จัดทำพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 และขับเคลื่อนแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีแผนปฏิบัติการพัฒนา 6 แนวทาง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ระดับประเทศพัฒนาโดยเร็วที่สุด

พร้อมทั้งขับเคลื่อน 5 Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ 2. อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ 3.อุตสาหกรรมยานยนต์  4. อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ BCG และ 5.อุตสาหกรรมบริการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทรนด์การลงทุนโลก

สำหรับกลไกการขับเคลื่อนการลงทุน EECO (The Eastern Economic Corridor Office of Thailand) โดยตั้งเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนไปที่ Targeted investment (ทั้งเชิงพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมาย) Tailor-made incentives และ Total solutions for starting operations

“มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ปี 2561 – ไตรมาส 3 ปี 2567 มีมูลค่า 1,731,625 ล้านบาท โดย 5 ประเทศที่ได้รับการออกบัตรสูงสุดได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งมีการดำเนินการชักชวนนักลงทุนของ สกพอ. ซึ่งมีนักลงทุนทั้งหมด   139 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 – 20 ก.ย. 2567) สร้างมูลค่าลงทุนรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท “นายจุฬา กล่าว

อย่างไรก็ดี การผลักดันเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ EEC เพื่อกิจการพิเศษ บนพื้นที่ประมาณ 19,744.69 ไร่ ทั้ง 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ เป็นการนำร่องพื้นที่ต้นแบบ หรือ Sandbox ที่ให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนและสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC ได้แก่

1. เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน EECh (High – Speed Rail Ribbon Sprawl) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับการพัฒนาพื้นที่ EEC เพิ่มความสะดวกในการเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภาเข้าสู่กรุงเทพมหานครภายใน 1 ชั่วโมง

2. เขตส่งเสริมการแพทย์จีโมนิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) EECg (Genomics Thailand) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิด “ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์” เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแพทย์และสุขภาพครบวงจร

3. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EECd (Digital Park) เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการลงทุนและกำลังคนด้านดิจิทัล เป็นโครงสร้างพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล และส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจดิจิทัลยุคใหม่

4. เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) EECmd (Medical Hub)เพื่อเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมส่งเสริมด้านนวัตกรรมการวิจัยขั้นสูง นวัตกรรมทางด้านการแพทย์ และการพัฒนาสุขภาพ เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

5. เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก EECa (Eastern Airport City) เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมต่อกับ “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) เชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯและปริมณฑลไปทางตะวันออก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน และประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

6. เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีบ้านฉาง EECtp (Tech Park Ban Chang)เพื่อสนับสนุนและรองรับงานวิจัยพัฒนา กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษดิจิทัล และส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการ

7. เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECi (Innovation) เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม สร้างและสะสมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเดิม สร้างอุตสาหกรรมใหม่รองรับการค้าและการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีวภาพจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

นายจุฬา กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอ การเพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ EEC ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าปราจีนบุรี มีความเหมาะสมมากที่สุด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินการต่อ เพราะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองได้ โดยจะต้องมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ขยาย EEC ซึ่งคาดว่าในกระบวนการสามารถดำเนินการได้ภายในปีหน้า โดยไม่ได้มองเฉพาะให้เกิดการลงทุนใหม่เท่านั้น แต่มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการลงทุนเดิม สู่อุตสาหกรรมใหม่สีเขียว โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น บริการที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ  สุขภาพ การแพทย์ และการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ถือว่าเป็นประโยชน์โดยเฉพาะในด้านพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น เหมาะสมกับนักลงทุนระยะยาวที่ต้องการพื้นที่เยอะ  จัดการระบบขนส่งได้ดีขึ้น และมีสาธารณูปโภคพร้อม

พร้อมทั้ง ได้กำหนด 28 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (ประกอบด้วย 26 นิคมอุตสาหกรรม และ 2 เขตรูปแบบคลัสเตอร์) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย  ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ภายใต้เงินลงทุนรวม 682,944  ล้านบาท ประกอบด้วย 4 โครงการขนาดใหญ่ ได้แก่

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ให้มีความรวดเร็วและสะดวกสบาย ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง

2. โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 18 ล้านตู้ต่อปี และรถยนต์จำนวน 3 ล้านคันต่อปี พร้อมทั้งติดตั้งระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอินโดจีน และประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมก้าวสู่การเป็นท่าเรือระดับโลก (World-Class Port)

3. โครงการสนามบินอู่ตะเภา โดยยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี (อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาให้โครงการฯ สามารถดำเนินการต่อได้ และเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาและเริ่มก่อนสร้างรถไฟในปี 2568)

4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการขนส่งได้ 31 ล้านตันต่อปี

ที่มา – https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1154946?fbclid=IwY2xjawG6it5leHRuA2FlbQIxMAABHQTKLBCjDUKp1H4Z6nPwF-h7ShZTeKQgf1Cyu2SFqD34LeEzMiZnU_UEaQ_aem_mY88KhdvX43BLECnaJLy4Q

Scroll Up