“รฟท.” เดินหน้าจ่าย “ซีพี” 3.9 พันล้าน ลุยสร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง หวังแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เล็งหารือเอกชนปรับแบบสร้างไฮสปีดไทย-จีน
รายงานข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน รฟท.ได้ดำเนินการเจรจาร่วมบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประเด็นการให้เอเชียเอราวัน ก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) กับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ขณะนี้ รฟท.ประเมินวงเงินคาดว่าจะอยู่ที่ราว 3.9 พันล้านบาท ที่นำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงพื้นที่ทับซ้อนส่วนดังกล่าว
“ตอนนี้รฟท. ได้คุยเรื่องแบบ เรื่องราคากับทางเอเชียเอราวันไปบ้างแล้ว ซึ่งได้ประเมินว่าวงเงินที่จะต้องใช้ก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน สร้างทางวิ่งน่าจะอยู่ที่ 3.9 พันล้านบาท รายละเอียดหลังจากนี้ต้องหารือกันถึงแบบก่อสร้าง ที่ทางเอเชียเอราวันต้องปรับแบบมาสร้างรองรับไฮสปีดไทย – จีนด้วย และดูความเหมาะสมของราคา ก่อนจะไปดำเนินการแก้ไขสัญญา”
ขณะเดียวกัน ตามมติ ครม.ได้เห็นชอบให้เอเชียเอราวัน เป็นผู้รับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธา รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง แต่ยังให้ยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของรถไฟไทย-จีนเป็นหลัก ดังนั้นการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนส่วนนี้จะต้องแล้วเสร็จภายใน ก.ค.2569 ส่วนค่าลงทุนออกแบบและงานก่อสร้างนั้น ทางเอเชียเอราวันจะเป็นผู้รับผิดชอบก่อน หลังจากนั้นจะมีการชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เกิดงบประมาณเพิ่มเติม
รายงานข่าวจากรฟท. กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาแก้ปัญหาซ้อนทับที่นำมาสู่การเจรจาแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้เอเชียเอราวันเริ่มงานก่อสร้างฯนี้ เนื่องจากช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทั้ง 2 โครงการต้องใช้โครงสร้างโยธาร่วมกัน แต่เวลาการก่อสร้างและมาตรฐานเทคนิคไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาให้การก่อสร้างสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการก่อสร้างในครั้งเดียว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จึงเจรจาเอกชนคู่สัญญาในโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน คือ เอเชียเอราวัน ทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟไทย-จีน ใช้เส้นทางดอนเมือง-บางซื่อ ตามแผนในเดือน ก.ค.2569
“เรื่องพื้นที่ทับซ้อนเป็นประเด็นที่รฟท. ศึกษามานานแล้ว เพราะการจะประกวดราคาก่อสร้างไฮสปีดไทย – จีน ก็จำเป็นต้องรอดูแบบของทางไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อนำมาก่อสร้างให้ได้มาตรฐานรองรับกัน เรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหา 2 โครงการ ใช้พื้นที่ก่อสร้างทับซ้อนกัน ท้ายที่สุดทางออกที่สามารถดำเนินการได้เลย รฟท. ไม่ต้องประกวดราคาเพิ่ม โดยการเจรจาให้เอเชียเอราวันสร้างแทรครถไฟเพิ่มจาก 2 แทรค เป็น 4 แทรค รองรับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ด้วย ซึ่งรัฐจะจ่ายจ่ายเงินชดเชยค่าก่อสร้างส่วนนี้ให้”
ทั้งนี้จากการหารือร่วมกับเอเชียเอราวัน ทราบว่าทางเอกชนมีความพร้อมที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ดังนั้นหากการแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จ สามารถหาข้อสรุปร่วมกันในส่วนของแบบก่อสร้าง และวงเงินก่อสร้างที่เหมาะสม ก็เชื่อว่าทางเอเชียเอราวัน จะเตรียมพร้อมเข้าพื้นที่ก่อสร้าง และเร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันตามแผน เพื่อรองรับการเปิดให้บริการไฮสปีดไทย – จีน
อย่างไรก็ตามด้านความคืบหน้าของไฮสปีดไทย – จีน รวม 14 สัญญา ขณะนี้ รฟท.ผลักดันให้มีการประกวดราคาและลงนามสัญญาไปแล้ว 11 สัญญา โดยในจำนวนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 10 สัญญา และยอมรับว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเข้าพื้นที่งานก่อสร้างได้รับผลกระทบ ประกอบกับบางสัญญาที่ผู้รับจ้างยังเข้าพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้ เนื่องจากต้องรอ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เบื้องต้น รฟท.จึงประเมินว่า โครงการจะล่าช้าจากแผนที่วางไว้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งเดิมตามแผนจะเปิดให้บริการปลายปี 2569 หรืออย่างช้าต้นปี 2670 อาจขยับไปเปิดบริการในช่วงครึ่งปีหลัง 2570
ที่มา – https://www.thansettakij.com/economy/504159