รถไฟ “ไทย-จีน” คืบ 20% ยังล่าช้า 30% รฟท.เร่งปลดล็อก 2 สัญญา
คาดเซ็นรับเหมาในปีนี้ ส่วนโครงสร้างร่วม “ไฮสปีด” ซี.พี.เลื่อนถก 3 ฝ่าย ชี้เอกชนสร้างทับซ้อนดีที่สุด แต่ต้องปรับเงื่อนไขเจรจา
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รฟท.ได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ซึ่งเหลืออีก 3 สัญญาที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง โดยมี 2 สัญญาประมูลแล้ว คาดจะลงนามสัญญาผู้รับจ้างเร็วๆ นี้ ส่วนอีก 1 สัญญาคือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. เป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท ซึ่งการเจรจากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน หรือ ซี.พี. (เอกชนคู่สัญญา) ยังไม่ได้ข้อยุติ
ทั้งนี้ จากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน หรือ ซี.พี. (เอกชนคู่สัญญา) ตัดสินใจก่อสร้างโครงสร้างร่วม หรือให้ รฟท.ก่อสร้างเองหลังข้อเสนอเงื่อนไขสร้างไป-จ่ายไป ไม่เป็นข้อยุติ โดยให้ ซี.พี.ตอบภายใน 3 สัปดาห์ ซึ่งทางเอกชนขอขยายเวลาพิจารณาเพิ่มเติม
ขณะที่ รฟท.ยังเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดคือ ซี.พี.ก่อสร้างโครงสร้างร่วม ซึ่งล่าสุด ซี.พี.ขอเลื่อนประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ รฟท., สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ ซี.พี. จากวันที่ 9 พ.ค. 2566 ออกไปก่อน ซึ่งก็ต้องดูว่าทางเอกชนจะมีข้อเสนอเงื่อนไขการเจรจารอบใหม่อย่างไร
“ขณะนี้ รฟท.กำลังดำเนินการตามมติบอร์ดอีอีซี ทาง ซี.พี.เองก็แสดงท่าทีเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างร่วม เพราะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และไม่อยากให้โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินสะดุด ส่วนรฟท.เองต้องพิจารณากรณีก่อสร้างเองคู่ขนานไปด้วย เราอยากให้โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินสำเร็จ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อภาพรวมของการพัฒนาอีอีซีที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วย แต่ รฟท.ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจเองได้ทั้งหมด เรื่องนี้เราไม่อยากให้ไปถึงขั้นตัดงานรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองออก แล้วไปเริ่มต้นเส้นทางดอนเมืองแทนบางซื่อ”
สำหรับกรณี รฟท.ก่อสร้างเอง ก็ต้องแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ซี.พี. เพราะเป็นกรณีตัดเนื้องานส่วนทับซ้อน ซึ่งไม่ง่าย ส่วนกรณีที่ ซี.พี.รับดำเนินการโครงสร้างร่วมตอนนี้ ต้องรอว่า ซี.พี.จะมีเงื่อนไขอะไรเสนอหรือไม่ เพราะกรณีสร้างไป-จ่ายไป ที่เจรจากันรอบแรก ทางบอร์ดอีอีซียังไม่รับเงื่อนไข
กรณีการออก NTP เริ่มก่อสร้างนั้น ยังกำหนดไว้ในเดือน มิ.ย. 2566 แต่ต้องขึ้นกับว่าเอกชนได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนด้วย ซึ่งเอกชนก็บอกว่าอยู่ระหว่างส่งเอกสารเพิ่มเติม และพยายามเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ส่วน รฟท.ยืนยันความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ไม่มีปัญหา
@เข็นเซ็นรับเหมา 2 สัญญา “ไทย-จีน” เร่งก่อสร้างในปีนี้
นายนิรุฒกล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้สอบถามถึงความคืบหน้า รถไฟไทย-จีน สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงินประมูล 9,348 ล้านบาท (ราคากลาง 11,386 ล้านบาท) ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว โดย บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้รับการคัดเลือก และล่าสุดทางกิจการร่วมค้า ITD-CREC ได้ตอบกลับแล้วว่าจะยืนราคาจนถึงเดือน ก.ค. 2566
ดังนั้น ฝ่ายก่อสร้างฯ อยู่ระหว่างหารือเอกชนเพื่อทำรายละเอียดการก่อสร้างและการเข้าพื้นที่ คาดว่าจะเสนอบอร์ดครั้งต่อไปเพื่อขอลงนามสัญญา ซึ่งสัญญานี้ บอร์ดเคยมีมติเห็นชอบผลประมูลไปก่อนแล้วแต่เนื่องจากมีการฟ้องร้องที่ศาลปกครองทำให้ยืดเยื้อออกไป จึงคาดว่าจะลงนามสัญญาได้เร็วๆ นี้
ส่วนความคืบหน้าสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท บอร์ด รฟท.ได้มีมติอนุมัติสั่งจ้างก่อสร้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายที่ 3 และยืนราคาก่อสร้างวงเงิน 10,325.96 ล้านบาท แล้ว อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา
ส่วนประเด็นนักวิชาการคัดค้านการก่อสร้างในเขตเมืองอยุธยา ที่มีโบราณสถาน และให้ปรับย้ายแนวเส้นทางนั้น รฟท.จะก่อสร้างตามข้อสรุปที่กรมบัญชีกลางเห็นชอบว่าสามารถจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างแบบมีเงื่อนไขได้ คือ การก่อสร้างส่วนของทางวิ่งไปก่อน ส่วนสถานีหากมีการปรับแก้แล้วยังไม่ยุติก็จะไม่กระทบทำให้โครงการทั้งหมดติดขัด เพราะ รฟท.สร้างทางวิ่งไว้แล้ว สถานีได้ข้อยุติเมื่อใดจึงก่อสร้างภายหลัง
รายงานข่าวแจ้งว่า การก่อสร้างงานโยธา รถไฟไทย-จีน ณ เดือน เม.ย. 2566 มีความคืบหน้า 20.720% ล่าช้า 37.75% (แผนงาน 58.47%) คาดว่าหาก 3 สัญญาที่เหลือเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2566 จะต้องใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการในปี 2570 ออกไปอย่างน้อยเป็นปี 2571
ที่มา – https://mgronline.com/business/detail/9660000047011