กพอ.เดินหน้าเร่งแก้สัญญาร่วมทุนซีพี สร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เล็งตอกเสาเข็มช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาและบางซื่อ-ดอนเมือง เริ่มต.ค.นี้ ยันบึงเสือดำเอกชนยอมรับเงื่อนไข จ่อชง บอร์ดอนุกพอ.ไฟเขียว ปลายเดือนก.ค.นี้ พร้อมเปิดให้บริการปี 69
รายงานข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เบื้องต้นจะดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ระหว่างรฟท. และบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด หรือซีพี ผู้รับสัมปทานโครงการฯ ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เนื่องจากช่วงดังกล่าวพบว่าการรื้อย้ายงานสาธารณูปโภคแล้วเสร็จ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้พื้นที่ครบทั้ง 100% หลังจากนั้นจะเร่งรัดออกหนังสือส่งมอบที่ดินให้กับเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการ (NTP) เพื่อก่อสร้าง ภายในเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน ซึ่งเอกชนสามารถเข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง เช่น งานสร้างถนน งานก่อสร้างโรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง ดำเนินการแล้วเสร็จ และเริ่มก่อสร้างต่อเนื่อง คาดว่าช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะเปิดบริการปี 2569
“ในกรณีบึงเสือดำที่อยู่ในพื้นที่มักกะสันนั้นเป็นพื้นที่ที่มีมานาน ซึ่งเอกชนยอมรับและรับทราบแล้ว หากเอกชนต้องการใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวสามารถก่อสร้างระบบระบายนํ้าทดแทนได้”
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการเจรจากับเอกชนถึงปัญหาบริเวณพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับไฮสปีดไทย-จีน) ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง แล้วเสร็จ เบื้องต้นได้โดยมอบ หมายให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบภายในปลายเดือนกรกฎาคม 2565
สำหรับช่วงปัญหาบริเวณการก่อสร้างโครงการฯทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟ ความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ไฮสปีดไทย-จีน) ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ได้ข้อสรุปแล้ว โดยเอกชนจะต้องออกแบบรายละเอียดตามมาตรฐานของจีน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทางเอกชนได้มีการออกแบบรายละเอียดตามมาตรฐานของยุโรป เมื่อจะดำเนินการก่อสร้างกลับพบว่าเกิดการทับซ้อนกับไฮสปีดไทย-จีน ซึ่งไทยและจีนมีข้อตกลงว่าต้องใช้การออกแบบตามมาตรฐานของจีน ทำให้โครงสร้างการก่อสร้างมีขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานยุโรป เพราะมุ่งเน้นความแข็งแรง ส่งผลให้มีค่าก่อสร้าง ค่าออกแบบและค่าควบคุมงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากสัญญาร่วมทุน จำนวน 9,207 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกพอ.กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ขณะนี้มีการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคและดำเนินการเคลียร์พื้นที่ผู้บุกรุกแล้วเสร็จ หลังจากแก้สัญญาแล้วจะเริ่มดำเนินการให้เอกชนเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนตุลาคมนี้แต่ในสัญญาเดิมระบุว่าเอกชนจะไม่ก่อสร้างช่วงดังกล่าวก่อน เพราะต้องการก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อ เพื่อสามารถเดินรถได้ต่อเนื่อง ปัจจุบันช่วงพญาไท-บางซื่อ อยู่ระหว่างการรื้อย้ายท่อนํ้ามัน เนื่องจากเพิ่งผ่านความเห็นชอบของรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะรื้อย้ายแล้วเสร็จภายในกลางปี 2566 ตามสัญญาจะส่งมอบพื้นที่ภายในเดือนตุลาคม 2566 ส่วนปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่ช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการเคลียร์ปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่อีกราว 80 หลัง จากเดิมทั้งหมดราว 200 หลัง คาดว่าจะย้ายผู้บุกรุกแล้วเสร็จภายในปี 2565
“ทางเอกชนต้องการพื้นที่การก่อสร้างโครงการฯที่มีความต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐต้อง การให้เอกชนก่อสร้างพื้นที่บริเวณบางซื่อ-ดอนเมืองก่อน เพื่อไม่ให้กระทบการก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ที่จะส่งผลต่อการเปิดให้บริการล่าช้า โดยเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงในการก่อสร้างช่วงดังกล่าวก่อน ทำให้ต้องเว้นการก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อออกไป เพราะรอรื้อย้ายท่อนํ้ามันให้แล้วเสร็จ”