ซี.พี.ทุ่ม 1.7 พันล้าน พลิกโฉม ”แอร์พอร์ตลิงก์” รีแบรนด์ใหม่ ”AERA 1” เปิดหวูด 25 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 กลุ่มซี.พี.ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่างและ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้เซ็นสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รับสัมปทาน 50 ปี ก่อสร้างและเดินรถโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 224,544 ล้านบาท และรถไฟฟ้าแแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ)

24 ต.ค.ครบกำหนดรับโอนแอร์พอร์ตลิงก์-พื้นที่ไฮสปีด

โดยจัดตั้งบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด นิติบุคคลเฉพาะกิจ ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท เพื่อเซ็นสัญญาร่วมทุนโครงการ

ในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 จะครบกำหนด 2 ปี ตามสัญญาต้องรับโอนแแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมจ่ายค่าใช้สิทธิ 10,671 ล้านบาท และรับมอบพื้นที่การก่อสร้างรถไฟคามเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร

ซี.พี.เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “เอเชีย เอราวัน”

ความคืบหน้าล่าสุด แหล่งข่าวจากกลุ่มซี.พี. เปิดเผย”มติชน”ว่า ขณะนี้ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็นบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด (ASIA ERA ONE) เพื่อบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ตลิงก์ โดยได้แจ้งให้กับรฟท.รับทราบแล้ว

ขอแบ่งจ่ายค่าเดินรถหมื่นล้าน

นอกจากนี้ยังหารือกับรฟท.ขอจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตลิงก์ แบบแบ่งชำระเป็นรายปี จากเดิมต้องจ่ายทั้งก้อน 10,671 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดหนัก ทำให้ปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการลดลงอย่างมากจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 2 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน

โดยบริษัทพร้อมเข้าบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ในเดือนตุลาคมนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบต่างๆ เช่น ระบบเดินรถ ป้ายบอกทาง พื้นทางเดินบริเวณสถานีและฝ้าเพดานสถานี ประตูเข้า-ออกสถานี ดัดแปลงขบวนรถexpress line จำนวน 4 ขบวน ปัจจุบันรับผู้โดยสารได้ 3 ตู้ อีก 1 ตู้ใช้สำหรับขนสัมภาระกระเป๋า จะนำมาปรับปรุงให้รองรับผู้โดยสารมากขบวนละ 200 คน จะเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ 1 ขบวน

รีแบรนด์ใหม่ ”AERA 1” เปิดหวูดวันแรก 25 ต.ค.นี้

“เราได้รีแบรนด์ดิ้งโครงการใหม่ เพื่อรองรับการเปิดเดินรถวันแรกในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า”AERA 1” (เอราวัน) แปลว่ายุคสมัย ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในวันแรกที่เปิดบริการจะมีรถ 9 ขบวนให้บริการครบ และมีพนักงานให้บริการตามสถานี โดยบริษัทมีพนักงานกว่า 300-400 คน ที่ผ่านการอบรมและเทรนนิ่งมาแล้ว มีทั้งที่รับสมัครใหม่และพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์เดิม

สำหรับค่าโดยสารจะยังเก็บในอัตราเดิม เริ่มต้น 15-45 บาท แต่อาจจะมีการเปลี่ยนโฉมหน้าบัตรโดยสารใหม่ให้สอดรับกับชื่อใหม่ ในเบื้องต้นระบบบัตรโดยสารยังคงเดิม แต่ต่อไปจะปรับปรุงให้ใช้ร่วมกับระบบTrueMoney Wallet ได้ด้วย

“การปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์จะทยอยดำเนินการหลังจากที่บริษัทได้เข้าบริหารการเดินรถอย่างเต็มตัวแล้ว”

สำหรับแอร์พอร์ตลิงก์ มี 8 สถานี ได้แก่ พญาไท ราชปรารภ มักกะสัน รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดพระบังและสุวรรณภูมิ ปัจจุบันเปิดบริการเวลา 05.30-20.00 น.ตามมาคการปัองกันโควิด-19

บิ๊กซี.พี.ทุ่ม 1.7 พันล้านพลิกโฉมใหม่

ก่อนหน้านี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ในเดือนตุลาคมนี้มีความพร้อมที่จะดำเนินการรับช่วงแอร์พอร์ตลิงก์จากรฟท.ได้แบบไร้รอยต่อตามสัญญา เป็นไปตามแผนงานและกำหนดเวลาที่วางไว้ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญการเดินรถและให้บริการระบบราง จากต่างประเทศและในประเทศลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียดและสำรวจความคิดเห็นจากผู้โดยสาร เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาและปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ให้พร้อมบริการได้อย่างต่อเนื่องทันทีที่เข้ารับช่วง โดยเฉพาะความปลอดภัยและความสะดวก

“บริษัททุ่มสรรพกำลังในการดำเนินงาน ให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกับประสบการณ์การเดินทางที่ดียิ่งขึ้นทันทีที่เราเข้าไปดำเนินงาน ต้องทำให้ดีตั้แต่ก้าวแรก พร้อมทั้งในแง่ของระบบการเดินรถ ความสะดวกสบายและความปลอดภัย เพราะแอร์พอร์ตลิงก์จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อสู่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกในอนาคตด้วย”

ด้านนายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชือมสามสนามบิน จำกัดหรือบจ.เอเชีย เอราวันในปัจจุบัน กล่าวว่า ตามสัญญาบริษัทจะบริหารจัดารแอร์พอร์ตลิงก์ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยได้ลงทุนเพิ่มในเพื่อปรับปรุงระบบ และสถานีด้วยงบประมาณ 1,700 ล้านบาท สำหรับดำเนินการล่วงหน้าก่อนรับโอนสิทธิ

ได้แก่ การเตรียมการด้านบุคลากร และถ่ายทอดเทคโนโลยี การเตรียมความพร้อมด้านระบบและเทคนิค การเตรียมความพร้อมด้านการปรับปรุงสถานีและการให้บริการ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ความสำคัญกลุ่มผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ด้วยการออแบบอารยสถาปัตย์ การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย

สะพัดเลื่อนส่งมอบพื้นที่สร้างไฮสปีด

สำหรับการรับมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา แหล่งข่าวจากกลุ่มซี.พี.กล่าวว่า อาจจะเลื่อนไปจากเดิมในเดือนตุลาคมนี้ออกไปเล็กน้อย เนื่องจากต้องรอทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศาภาคตะวันออก(อีอีซี)เคลียร์การเวนคืนที่ดินที่นอกเหนือจากที่ดินรฟท. ซึ่งบริษัทแสดงเจตจำนงแต่แรกแล้วว่า จะรับมอบพื้นที่ก่อสร้างตลอดเส้นทางเท่านั้น จะไม่รับมอบเป็นฟันหลอ

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2911580

Scroll Up