อัพเดตแผนก่อสร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ร.ฟ.ท.ยัน ต.ค.นี้ส่งมอบพื้นที่กลุ่ม ซี.พี.ได้ตามแผน เผยอนุมัติให้เข้าพื้นที่เตรียมไซต์ก่อสร้างไปแล้ว หารือสำนักงบฯของบฯกลางปี’64 วงเงิน 607 ล้าน เคลียร์เวนคืนเร่งด่วน สร้างเฟสแรก “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ที่เหลือขอปีหน้า เคาะจุดทับซ้อนช่วง “บางซื่อ-ดอนเมือง” เคาะ “รถไฟไทย-จีน” เป็นผู้สร้าง ดีเดย์ 25 ต.ค.เปิดวิ่งแอร์พอร์ตลิงก์โฉมใหม่
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาอนุมัติให้ บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่ม ซี.พี.) ผู้รับสัมปทาน 50 ปี ก่อสร้างและบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท เข้าพื้นที่ก่อสร้างในเฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง เช่น ทำถนน, ไซต์งานก่อสร้าง เป็นต้น โดยจ้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้ดำเนินการ 3,603.728 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ส.ค. 2564
สำหรับความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในส่วนต่าง ๆ ยังเป็นไปตามแผนเดิมทั้งหมด โดยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จากพญาไท-สุวรรณภูมิ ทางกลุ่ม ซี.พี.ยืนยันจ่ายค่าใช้สิทธิจำนวน 10,671 ล้านบาท และพร้อมรับมอบโครงการไปบริหาร จะเริ่มเดินรถวันแรกตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป
เช่นเดียวกับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ยังกำหนดวันออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างได้ภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 จะใช้เวลาสร้าง 5 ปี ขณะนี้เอกชนยังไม่ได้มีการยื่นข้อเสนอขอยืดเวลาส่งมอบพื้นที่จากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่ความคืบหน้าหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินเวนคืนที่ดินอีก 2,170 ล้านบาท จากเดิม 3,570 ล้านบาท เป็น 5,740 ล้านบาท ตอนนี้กำลังประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติจากงบประมาณกลางปี 2564 วงเงิน 607 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าเวนคืนสำหรับการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาให้ทันภายในเดือน ต.ค.นี้
โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 นี้ ส่วนวงเงินที่เหลือจะจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และเผื่อเป็นค่าอุทธรณ์เพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงแนวทางการดำเนินงานโครงสร้างที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทางประมาณกว่า 10 กม. ในเบื้องต้นมีการหารือร่วมกันและสรุปว่าจะให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้ดำเนินการเอง เนื่องจากช่วงดังกล่าวหากให้กลุ่ม ซี.พี.เป็นผู้ดำเนินการตามแผนจะส่งมอบพื้นที่ช่วงดังกล่าวซึ่งรวมอยู่ในส่วนของพญาไท-ดอนเมือง จะส่งมอบได้ภายในเดือน ต.ค. 2566 อาจก่อสร้างไม่ทันตามแผนที่จะต้องเปิดบริการโครงการรถไฟไทย-จีน ภายในปลายปี 2567
ทั้งนี้ในรายละเอียดยังต้องหารือกันอีก เนื่องจากหากดำเนินการตามแนวทางนี้ยังมีเรื่องของการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การย้ายขอบเขตงาน วงเงินสนับสนุนที่กลุ่ม ซี.พี.จะได้ไม่เกินค่างานโยธา จะต้องมีการปรับลดลงหรือไม่ รวมถึงเรื่องแบบการก่อสร้างอีกด้วย
“ทางเลือกในการออกแบบงานโครงสร้างมี 2 ทาง ทางที่ 1 ให้ฝ่ายจีนออกแบบให้ กับทางที่ 2 หากฝ่ายจีนไม่ยินยอม ทาง ร.ฟ.ท.อาจจะต้องเสนอ ครม.ขอเพิ่มวงเงินสำหรับออกแบบและก่อสร้างงานโครงสร้างช่วงนี้แทน โดยจะต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบและอนุมัติแผนงานดังกล่าว ทั้งนี้ คาดว่าการหารือในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องแบบก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ และน่าจะก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวได้ในปี 2565 ต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-661063