“คมนาคม” เร่งศึกษาโมเดลตั้ง “องค์กรพิเศษ” กำกับการดำเนินงานรถไฟความเร็วสูง แยกอิสระจาก รฟท.เพื่อความคล่องตัว เตรียมนำร่องบริหารจัดการ “ไฮสปีดไทย-จีน” และเชื่อม 3 สนามบิน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า วันที่ 5 ก.ย. 2566 กระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมสัมมนาโครงการศึกษาแนวทางและจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารความเข้าใจพร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะครั้งที่ 1 โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยร่วมมือกับทางฝ่ายจีน ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา มีความคืบหน้าประมาณ 24% และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุนทำหน้าที่ทั้งการก่อสร้างและการบริหารจัดการเดินรถ
เส้นทางที่จะดำเนินการในอนาคต จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,828 กม. ได้แก่ 1. สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ 2. สายระยอง-จันทรบุรี-ตราด 3. กรุงเทพฯ-หัวหิน-สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์
สำหรับการจัดตั้ง “องค์กรพิเศษ” เพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 โดยกำหนดให้เป็นองค์กรอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้กำกับการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพมีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสม สำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งกำหนดมาตรการ หรือแนวทางในการสนับสนุน ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ โดยไม่เป็นภาระผูกพันต่องบประมาณของรัฐ สามารถวางแผนและควบคุมให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
กระทรวงคมนาคมจึงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา (บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และ บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด) ทำการศึกษา โดยได้นําเสนอข้อมูล วัตถุประสงค์ของโครงการฯ พร้อมนําเสนอแนวทางการพิจารณาและกําหนดรูปแบบความเป็นไปได้ขององค์กรพิเศษเพื่อกํากับการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกํากับการดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงมีความเหมาะสม
สำหรับการศึกษาแนวทางและจัดทํารายละเอียดการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกํากับการดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงมีขอบเขตของการดําเนินงาน ดังนี้ 1. ศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรกํากับรถไฟ ความเร็วสูงที่ประสบความสําเร็จในต่างประเทศ 2. ศึกษาประเด็นข้อกฎหมายของประเทศไทย แนวทางการจัดตั้งองค์กร แนวทางการระดมทุน รูปแบบโครงสร้างผู้ถือหุ้น และแนวทางการร่วมลงทุน 3. ศึกษาโครงสร้างธุรกิจและโอกาสทางการตลาด
4. วิเคราะห์ผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) ของโครงการรถไฟความเร็วสูง (รวมทุกเส้นทาง)
5. นําเสนอโครงสร้างขององค์กรและบุคลากร ขอบเขต อํานาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ 6. จัดทําแผนการจัดตั้งองค์กรพิเศษ 7. จัดทําแผนการหารายได้จากธุรกิจเดินรถ และธุรกิจรอง 8. กําหนดเป้าหมายในการดําเนินงาน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 9. กําหนดตัวชี้วัดเพื่อกํากับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดําเนินงาน 10. ดําเนินการประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุน ถึงรูปแบบการจัดตั้งองค์กรพิเศษ
ทั้งนี้ จากการศึกษาตัวอย่างองค์กรรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศ แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ 1. มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบทั้งหมดก่อสร้างบริหารและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและเดินรถ จะมีงบการเงินเดียว มีข้อสังเกตเรื่องการรับภาระค่าก่อสร้างจำนวนมากเป็นอุปสรรคทางการเงิน เช่น ไต้หวัน
2. แยกเป็นหน่วยงานที่ดูแลการก่อสร้างกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและเดินรถ งบการเงินแยกกันระหว่าง 2 องค์กร โดยผู้เดินรถเป็นผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและจัดการด้านเดินเดินรถ เช่น ญี่ปุ่น จีน
3. แยกเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ก่อสร้าง บริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เดินรถ งบการเงินแยกกันระหว่าง 2 องค์กร และเปิดโอกาสให้ผู้เดินรถรายอื่นสามารถเดินรถได้ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีอิสระในการเดินรถเนื่องจากผู้ก่อสร้างเป็นผู้รับภาระบริหารและจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สหราชอาณาจักร สเปน เกาหลีใต้
4. มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบทั้งหมดแต่มีการแบ่งแยกทางบัญชีเพื่อดำเนินงานในส่วนต่างๆ หรือจัดตั้งเป็นบริษัทลูกเพื่อดำเนินงานในส่วนต่างๆ มีงบการเงินเดียว และเปิดโอกาสให้ผู้เดินรถรายอื่นสามารถเดินรถได้ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีการจัดตั้งเป็น Holding Company เพื่อประโยชน์ในการลดภาระภาษีการขยายกิจการและการจำกัดความเสี่ยง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี
@อดีตบิ๊ก รฟท.แนะกรมรางช่วยช่วงเริ่มต้น ชี้ตอนนี้ไฮสปีดยังมีแค่ 2 สาย
นายวรวุฒิ มาลา อดีตรองผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า ตอนเจรจารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ฝ่ายไทยโดย รฟท.ยังใช้รถไฟดีเซล ไม่มีประสบการณ์เรื่องรถไฟความเร็วสูงทำให้มีอำนาจเจรจาต่อรองน้อย แต่ก็ถือเป็นเส้นทางที่ได้เริ่มต้นและมีโอกาสมากที่สุด รวมถึงเส้นทางเฟส 2 นครราชสีมา -หนองคาย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับ สปป.ลาวไปยังจีนได้ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่วนสายเหนือ มีการศึกษาแล้ว ค่าลงทุนสูง ใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็น ทางญี่ปุ่นถอยไปแล้ว เพราะต้องมีผู้โดยสาร 1-2 หมื่นคน/วัน จึงจะคุ้มทุน สายใต้ ตอนนี้ ยังนิ่งอยู่เช่นกัน
ดังนั้น การจัดตั้งองค์กรกำกับรถไฟความเร็วสูงขึ้นมาทำหน้าที่นี้ ก็ต้องดูว่าจะมีโครงการอะไรที่จะเกิดขึ้น ขณะมีเวลาจำกัดแล้วที่จะต้องเริ่มส่งคนไปเรียนรู้เทคโนโลยีจากจีน ตามเงื่อนไขรถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 ปัจจุบันมีกรมการขนส่งทางรางที่ตั้งขึ้นและมีกฎหมายแล้ว สามารถเข้ามาช่วยได้ก่อนหรือไม่ ความหมายคือ ตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกรมรางไปก่อน และเมื่อโครงการมีมากขึ้นและมีภารกิจมากขึ้นจึงตั้งองค์กรอิสระภายหลังเพื่อความรวดเร็ว