ระยะเวลารวม 5 ปี สำหรับการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย หรือ ไฮสปีดไทย-จีน
นับจากวันที่ 21 ธ.ค.2560 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำพิธีเปิดการก่อสร้างโครงการส่วนแรก ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) อย่างเป็นทางการ โดยเป็นการแสดงสัญลักษณ์การตักหน้าดินร่วมกับหวัง เสี่ยว เทา ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ดำเนินการประกวดราคาจัดหาเอกชนเพื่อก่อสร้างโครงการ
ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ลงนามสัญญาผู้รับเหมาไปแล้ว 11 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา แต่ภาพรวมการก่อสร้างกลับพบว่ามีเพียงสัญญา 1-1 แรก ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนสัญญาอื่นๆ นั้น ยังติดปัญหาการเข้าพื้นที่ การส่งมอบพื้นที่ เพราะต้องรอพระราชกฤษีกา (พรฎ.) เวนคืนที่ดิน
จนกระทั่งวันนี้ (22 มี.ค.2565) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินจะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. โดยระบุว่า ครม.เห็นชอบ พรฏ.เวนคืนที่ดิน แนวเส้นทางโครงการไฮสปีดไทย – จีน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนให้ถูกต้องชัดเจน โดยร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ 4 ปี และให้เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเริ่มทำการสำรวจได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีผลใช้บังคับ
สำหรับร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของท้องที่ เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
รวมไปถึงอำเภอหนองแซง อำเภอเส้าไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอเนินสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อประมาณ 667 ไร่ และอาคาร 1,130 หลัง เพื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ขนาดทาง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร
ก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงใหม่ จำนวน 4 สถานี และศูนย์ควบคุมการเดินรถและซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ 1 แห่ง รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางรถยนต์ลอด และทางคนลอดใต้ทางรถไฟแทน อย่างไรก็ดี เมื่อก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาระบบรางของไทยให้มีความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ซึ่ง ร.ฟ.ท.คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569
รายงานข่าว ร.ฟ.ท.เผยว่า สาเหตุของความล่าช้าในการก่อสร้างไฮสปีดไทย – จีน แม้ว่าจะมีการลงนามสัญญาให้ผู้รับเหมาเข้าไปเริ่มก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าภาพรวมการก่อสร้างหลายสัญญายังล่าช้ากว่าแผน ส่วนหนึ่งเพราะการระบาดโควิด-19ต้นทุนค่าก่อสร้างผันผวน รวมไปถึงการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เนื่องจากต้องรอ พรฏ.เวนคืนที่ดินประกาศใช้ และยังมีบางสัญญาที่ติดข้อพิพาททางกฎหมาย
“ปัจจุบันการก่อสร้างไฮสปีด ไทย-จีน เฟส 1 มีทั้งหมด 14 สัญญา ภาพรวมคืบหน้าประมาณ 5% ล่าช้ากว่าแผนราว 3% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก กำลังก่อสร้างอีก 10 สัญญา ซึ่งภายหลัง พรฏ.เวนคืนที่ดินประกาศใช้ คาดว่าจะทำให้งานก่อสร้างคืบหน้าอย่างมาก โดยการรถไฟฯ จะทยอยเวนคืนที่ดินและส่งมอบให้ผู้รับเหมาดำเนินการ”
ขณะเดียวกันปัจจุบันเหลือสัญญายังไม่ได้ลงนามรวม 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก- บันไดม้า ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.3 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้ติดปัญหาการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดกับแหล่งมรดกโลก
ที่มา – https://www.bangkokbiznews.com/business/995761