เร่งแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน รัฐหาข้อสรุป ขยายสัมปทาน – ผ่อนจ่าย

กบอ.รับทราบรายงาน คณะกรรมการกำกับสัญญาฯไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เจรจาเอกชนเยียวยาผลกระทบจากโควิดผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงค์ลดลง เล็งใช้แนวทางการปรับระยะเวลาค่าสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องเวลาเริ่มรับสัมปทาน “คณิศ” ย้ำรัฐไม่เสียงบประมาณเพิ่ม เอกชนได้ความเป็นธรรม

ความคืบหน้ากรณีกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอเซีย เอราวัณ จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่อยู่ระหว่างเจรจากับภาครัฐในการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานกับรัฐบาล และการรถไฟฯ ในการขอยืดเวลาจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท จากที่ต้องจ่ายให้การรถไฟในวันที่ 24 ต.ค.2564 โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างภาครัฐกับเอกชนนั้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วานนี้ (21 ก.พ.) ว่ากบอ.รับทราบความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซ่ึ่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาฯ ได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และเอกชนคู่สัญญากำลังดำเนินการอยู่ โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ

1.กระทรวงคมนาคมให้เอกชนสร้างส่วนทับซ้อนงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาโดยไม่เป็นภาระทางการเงิน ของภาครัฐ

2.การบรรเทาผลกระทบโควิด-19 อย่างเหมาะสมให้กับเอกชน ซึ่งแม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะเริ่มกลับมา 20,000 คนต่อวัน แต่ยังห่างจากการประมาณการตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้การแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญกับการปรับระยะเวลาค่าสิทธิเป็นสำคัญ โดยเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วก่อนดำเนินการ ซึ่งภาครัฐไม่เสียประโยชน์และเป็นธรรมต่อภาคเอกชนบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนในโครงการร่วมกัน

“ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากคณะกรรมการกำกับสัญญาฯ แต่มีการรายงานแนวทางเบื้องต้นว่าภาครัฐไม่ต้องควักเงินจ่ายให้กับเอกชน แต่การเยียวยาที่จะเกิดขึ้นอาจพิจารณาเรื่องระยะเวลา เช่น การยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ในส่วนของแอร์พอร์ตลิงค์ออกไป 5-6 งวด หรือขยายระยะเวลาการให้สัมปทานเดินรถแก่เอกชน เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องสุดวิสัย และการฟื้นตัวจากโควิด ทั้งเศรษฐกิจก็ต้องใช้เวลาอีกกว่า 15 เดือน และกว่าที่ท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวมาถึง 30 ล้านคน ต้องใช้เวลากว่า 27 เดือน ซึ่งผลกระทบแบบนี้ตามหลักการพีพีพีรัฐกับเอกชนที่เป็นคู่สัญญากันก็ต้องหาทางออกร่วมกัน”นายคณิศ กล่าว

3.การส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ซึ่งปัจจุบัน ร.ฟ.ท.เตรียมพื้นที่ส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 3,493 ไร่ หรือเกือบครบทั้งหมด 100% แล้ว เหลือพื้นที่ส่งมอบเพียง 20 ไร่ หรือ 0.57% ที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะดำเนินการให้เสร็จในเดือน พ.ค.2565

แหล่งข่าวจากที่ประชุม กบอ.กล่าวว่า ที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับการเริ่มต้นนับหนึ่งของสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้สอบถามว่าเมื่อ ร.ฟ.ท.ส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไปแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 จะเริ่มต้นสัญญาได้เลยหรือไม่

ในขณะที่บางส่วนมีความเห็นว่าการเริ่มนับสัญญาอาจเริ่มเมื่อส่งมอบพื้นที่ครบ 100% และมีการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มมงาน (NTP) ซึ่ง กบอ.กำหนดให้หาข้อสรุปเรื่องนี้ให้ชัดเจน

 

ที่มา – https://www.bangkokbiznews.com/business/989596

Scroll Up