ประสิทธิ์ เลาหลื่อ ปลูกผักเลี้ยงชีพบนดอยสูงที่หมู่บ้านม้งไมโครเวฟ อ. เมือง จ. แม่ฮ่องสอน ชายวัย 47 ปี ผู้นี้ผลิตผักกาดขาวปลี และกะหล่ำขาวปลี ซึ่งเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น หลายแสนกิโลกรัมต่อปี
เขาส่งผลผลิตจากสวนให้โรงงานซึ่งทำหน้าที่บรรจุหีบห่อส่งไปยังเครือข่ายห้างค้าปลีกรายใหญ่ของไทยทั่วประเทศ รวมทั้งตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ ตั้งแต่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ไปถึงตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง มีส่วนน้อยที่ขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อหน้าฟาร์ม แต่ในช่วง ม.ค. ที่ผ่านมา เขาไม่สามารถขายผักกาดขาวได้อีกต่อไป
“ตอนนี้สุด ๆ จริง ๆ” ประสิทธิ์กล่าว “ตั้งแต่รถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ราคาร่วงมาเป็นเดือนกว่า ก่อนรถไฟจะมาราคาหน้าสวน 5-6 บาท ตอนนี้ต่ำกว่าหนึ่งบาทก็ไม่มีคนซื้อ”
รถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ที่ประสิทธิ์กล่าวถึงคือรถไฟสายบ่อเต็น-เวียงจันทน์ ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างเมืองคุนหมิงของจีนกับเมืองหลวงของลาว
รถไฟสายนี้เปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนธันวาคม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงจีนสู่ช่องแคบมะละกา ช่องการทางค้าทางทะเลสายสำคัญของโลก โดยผ่านประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนทั้งไทย ลาว มาเลเซีย ไปถึงสิงคโปร์
ธนาคารโลก และผู้เชี่ยวชาญอิสระอื่น ๆ มองว่าโครงการรถไฟลาว-จีน จะนำพาความเจริญด้านการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนมูลค่ามหาศาลมายังอินโดจีนและกลับไปที่จีนเอง เนื่องจากรถไฟจะช่วยลดต้นทุนและลดเวลาด้านการขนส่งสินค้าและผู้คน
ไทยเอง ก็พยายามหาโอกาสจากรถไฟสายนี้ โดยสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อช่วงปลาย ม.ค. ว่า สินค้าเกษตรล็อตแรกจากไทยที่ขนส่งโดยรถไฟจีน-ลาว คือ ข้าวเหนียวหัก 20 ตู้ น้ำหนัก 500 ตัน จากบริษัทเอกชนใน จ.หนองบัวลำภู เดินทางผ่านด่านหนองคายไปฝั่งประเทศลาวที่ท่าบกท่านาแล้ง ไปยังสถานีเวียงจันทน์ใต้ เข้าจีนที่ด่านรถไฟโมฮ่าน ตอนใต้ของมณฑลยูนนาน สู่มหานครฉงชิ่งในภาคตะวันตกของจีน โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ซึ่งเร็วกว่าการขนส่งทางเรือ 4 เท่า
แต่ ความกังวลเรื่องการทะลักเข้ามาของสินค้าจากจีนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการของไทยที่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ
รถไฟจีน ทำผักทะลัก ?
หลังกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ ประสิทธิ์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยในช่วง ปลาย ม.ค. ว่าได้ตัดสินใจตัดผลผลิตของเขาที่ยังไม่ได้เก็บทั้งหมดรวม 7 ไร่ ผลผลิตประมาณ 100,000 ก.ก. เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยให้กับผืนดินในฤดูกาลหน้า
“ลงทุนไปแสนห้า ไม่ได้สักบาท เพิ่งลงไปเมื่อปลายพฤศจิกายน เสียดายเพราะช่วงนั้นรถไฟมาพอดี”
ประสิทธิ์กล่าวว่าเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีผักจีนทะลักเข้าไทยหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมาทางด่านเชียงของ จ.เชียงราย
กะหล่ำปลีของหมู่บ้านม้งไมโครเวฟ เจอคู่แข่งเป็นกะหล่ำปลีจากจีนมานาน โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือห้างค้าปลีกรายใหญ่ของไทย และตลาดค้าส่งทั่งประเทศ แต่ทุกครั้งตัวเขา และอีกกว่า 800 ชีวิตในหมู่บ้าน ที่ปลูกกะหล่ำปลี ยังสามารถขายผักได้แม้ราคาจะลดลงลงไปบ้าง
“เวลาผักมาทางเชียงของก็จะชะงักไป อาทิตย์หนึ่งก็ทรงตัว ก็พอขายได้”
ความผิดของรถไฟ ?
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยตั้งแต่รถไฟจีน-ลาวเปิดบริการนั้น เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทดลองระบบในช่วงสัปดาห์แรกจึงทำให้สินค้าทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก
“รถไฟลดเวลาจากคุนหมิงมาลาวเหลือเพียง 10 ชั่วโมง” รศ.ดร.อัทธ์กล่าว “เมื่อเทียบกับทางบกเชียงแสน-ห้วยทราย ซึ่งใช้เวลานานกว่า”
สินค้าเกษตรจากจีนส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไทยปลูกเช่นกัน เช่น กระเทียม หอมแดง บร็อคโคลี่ และแครอท
“สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรไทยแข่งขันลำบาก ทั้งในเรื่องคุณภาพและต้นทุน… สิ่งที่เกษตรกรไทยควรทำคือ ปลูกผสมผสาน ลดต้นทุน และทางภาครัฐไทยควรมีกฎระเบียบกติกามาตรฐานเพื่อควบคุมสินค้าที่เข้ามา”
ข้อมูลจากศุลกากรจังหวัดหนองคาย ระบุว่า มีการทดลองนำเข้าผักจากจีนผ่านทางรถไฟเมื่อ 7 ธ.ค. จำนวน 33 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือราว 660 ตัน และยังไม่พบว่ามีการนำเข้าผักอีก
ก่อนหน้ารถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ สินค้าจากเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนานของจีน ผ่านการลำเลียงทางบกมาตามเส้นทาง R3A ก่อนผ่านด่านบ่อหานในเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ในจีน เรื่อยมายังด่านบ่อเต็นในแขวงหลวงน้ำทา ด่านห้วยทรายในแขวงบ่อแก้ว ในลาว และข้ามมายังด่านเชียงของ จ.เชียงรายในที่สุด ผ่านระยะทางรวมแล้วกว่า 1,240 กิโลเมตร
รถไฟจีน-ลาวก่อสร้างในปี 2559 และมีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อ 2 ธ.ค. 2564
สื่อของทางการจีนรายงานว่ามีระยะทางรวม 1,035 กม. ในจำนวนนี้เป็นระยะทางในลาว จากบ่อเต็นถึงเวียงจันทน์ 414 กิโลเมตร
รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า ข้อตกลง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 1 ม.ค. ที่ผ่านมาเพื่อเชื่อมโยงระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่าง 10 ชาติอาเซียน และจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียนั้น จะทำให้ราคาสินค้าและผักจากจีนถูกลงอีกราว 40% ซึ่งเป็นความท้าทายด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเช่นกัน
ผักจีนในตลาดไท
ที่ตลาดไท ตลาดค้าส่งผัก-ผลไม้แหล่งใหญ่ในภาคกลาง บีบีซีไทยได้พบกับแผงนำเข้าผักจากจีนมากมาย ในส่วนของแผงผักต่างประเทศ เจ้าของแผงขายผักจากจีนรายหนึ่งกล่าวว่า เธอไม่ได้เป็นผู้นำเข้าผักจากจีนเอง แต่สั่งจากผู้นำเข้าอีกทีหนึ่ง ซึ่งบางทีเป็นบริษัทนำเข้าของคนจีนที่ประกอบการในไทยก็มี เธอคาดว่าผู้นำเข้าผักจีนเป็นคนจีนราว 80% ที่เหลือเป็นคนไทย
เจ้าของแผงผักแห่งนี้กล่าวว่า เธอยังไม่เห็นว่ารถไฟจีน-ลาวจะทำให้ผักทะลักเข้ามายังตลาดตามรายงานข่าวที่ออกไปในช่วงเดือนธันวาคม ถึงผักที่ขนส่งมาทางบกจะใช้เวลา 4-5 วันในการขนส่ง แต่ต้นทุนต่ำกว่ารถไฟ
“ต้องมีการเตรียมสินค้า แพ็กสินค้า เตรียมเอกสารเพื่อขนผักทางรถไฟมากมาย ไม่ได้ใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมงหรอก” เจ้าของแผงกล่าว และเสริมว่า ลูกค้าชอบผักจีนมากกว่า เพราะความสด เกษตรกรของจีนรัฐบาลสนับสนุน ธนาคารจีนก็สนับสนุนเกษตรกรส่งออกด้านเงินทุน
“ช่วงหน้าหนาวผักจีนแพง แต่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ผักไทยถูก บางทีเราต้องปลูกสวนกระแสบ้าง (จะได้แข่งขันได้) เพราะผักกาดขาวมักล้นตลาดอยู่เสมอ”
ประหยัด เจริญ เจ้าของแผงผักสด “สันกำแพง” ในตลาดไท กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ช่วง ธ.ค. ที่ผ่านมา ผักที่ร้านของเขาเหลือเยอะ ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะรถไฟจีน-ลาวเช่นกัน แต่ตอนนี้เขาคิดว่าจำนวนผักไม่ได้ทะลักมาก แต่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง
ด้านหญิงไทยผู้นำเข้าผักจากมณฑลยูนนานรายหนึ่งกล่าวว่า เธอนำเข้าผักจากจีนมาขายต่อให้กับแผงในตลาดไทและสี่มุมเมืองเนื่องจากระบบการเกษตรของจีนดีกว่าและเหมาะกับการสั่งปริมาณมาก ๆ
“ความจริงผักไทยก็สู้ได้ ในเรื่องคุณภาพ ความสด แต่จำนวนไม่สามารถป้อนให้ผู้ค้าได้อย่างสม่ำเสมอเพียงพอ และรัฐไม่ได้สนับสนุนเกษตรกรมากพอเพื่อสู้ผักนำเข้าได้ และเกษตรกรไทยไม่ได้คุมราคาสินค้าเอง แต่พ่อค้าคนกลางซื้อตามราคาตลาด ถ้าราคาตกก็ต้องตัดผักทิ้งตามข่าว แต่จีนระบบดีและรัฐมีทุนให้เกษตรกร เขาจึงมีความสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้”
ลาวจะกลายเป็นโลจิสติกส์ฮับแทนไทย ?
ไม่ว่ามาทางถนน หรือ ทางรถไฟ สินค้าเกษตรจากจีนย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรไทย ขณะที่นักธุรกิจไทยจำนวนหนึ่งก็กังวลว่า รถไฟจีน-ลาว กำลังเขย่าสถานะของประเทศไทยในฐานะการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอินโดจีนของไทย
ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่งใน จ.หนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในตัวจังหวัดกำลังเติบโตเนื่องจากผู้ส่งออกชาวไทยต้องการหาที่สร้างโกดังสินค้าให้ใกล้กับเวียงจันทน์มากที่สุด ผู้ประกอบการหลายภาคส่วนกำลังดำเนินการลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการของลาวเพื่อส่งออกสินค้าจากลาวเช่นกัน
แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เพื่อกำหนดนโยบายการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เพื่อขับเคลื่อนความเชื่อมโยง ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน และส่งเสริมการค้าระหว่างสามประเทศดังกล่าว แต่ภาคเอกชนยังติติงภาครัฐว่าเริ่มต้นช้าไป ทั้งที่รถไฟจีน-ลาวได้ใช้เวลาสร้างกว่าห้าปีมาแล้ว
ที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา รับทราบผลการประชุม 3 ฝ่ายระหว่างไทย ลาว และจีน เมื่อ 19 พ.ย. 2564 เห็นชอบการลงทุนร่วมกันในสะพานแห่งใหม่ระหว่างไทยและลาวในอาณาเขตของตนเอง รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาร่วมกันต่อไป
ตามแผน โครงการสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2 ห่างจากสะพานเดิม 30 เมตร มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร และทางขนาด 1 เมตร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเร่งรัดการออกแบบรายละเอียดของสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ต่อไป
วราวุธ มีสายญาติ นายกสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว กล่าวว่า ไทยมองว่าตัวเองเป็นโลจิสติกส์ฮับแต่ในขณะนี้ลาวได้กลายเป็นฮับเนื่องจากสินค้าจากไทยต้องไปขนถ่ายที่ Vientiane Logistics Park ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลลาวให้สัมปทานเอกชนดำเนินการ
เขากล่าวว่าสินค้าจำนวนมากจากไทยและลาว ที่รอส่งออกไปยังจีน ขณะนี้ต้องนำพักที่ “ท่าบก” หรือศูนย์กระจายสินค้าในกรุงเวียงจันทน์เพื่อรอการขนถ่ายขึ้นรถไฟไป
“เราต้องพึ่งประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งออกสินค้าไปสู่จีนทางรถไฟจีน-ลาวซึ่งในตอนนี้รถไฟจีน-ลาวเปิดมาเดือนกว่าแล้วเห็นการขนส่งสินค้าที่มีศักยภาพสูง ดังนั้นจึงเห็นว่าควรต้องเร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงคู่ขนานสำหรับรางรถไฟเพื่อให้เชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาว ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนในการขนส่งตลอดจนเพิ่มมูลค่าการส่งออกทางรางให้กับประเทศไทยด้วย”
วราวุธ กล่าวว่าข้อได้เปรียบด้านการส่งออกไปจีนของลาว นอกจากรถไฟจีน-ลาวแล้ว ยังมีพิธีสาร หรือข้อยกเว้นทางภาษีศุลกากรที่จีนมอบให้ผลไม้ลาวเป็นจำนวนชนิดมากกว่าผลไม้ไทยด้วย
ในช่วงปลาย ม.ค. กระทรวงคมนาคม และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐร่วมประชุมผ่านวิดีโอกับบริษัท Vientiane Logistics Park จำกัด เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาโครงการท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์ นครหลวงเวียงจันทน์ พื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ ในบ้านดงโพสี เมืองหาดซางฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร
โครงการท่าเรือบกได้ดำเนินการแล้วเสร็จในระยะแรก ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ของรถไฟลาว – จีน ถึงท่าเรือบกท่านาแล้ง ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลาย มี.ค. หรือต้น เม.ย. นี้
กรมการขนส่งทางรางของไทยได้นำเสนอแผนการดำเนินการรองรับการเปิดให้บริการรถไฟลาว – จีน ผ่านสะพานมิตรภาพเดิม ในระยะเร่งด่วน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมเพิ่มการขนส่งจาก 4 ขบวน เป็น 14 ขบวนและจาก 12 แคร่เป็น 25 แคร่ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดเตรียมสถานีหนองคายให้ดำเนินการเป็นจุดตรวจปล่อยสินค้าขาออก และในระยะยาวจะมีการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รวมถึงย่านสินค้าสถานีท่านาแล้งให้เป็นจุดตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศและสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีนต่อไป
รศ.ดร.อัทธ์ เห็นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อจีนเป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่ในลาวแล้ว ผักหรือผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านรายอื่น เช่น เวียดนาม ก็จะเข้ามาที่ลาวและแข่งขันกับสินค้าไทยเช่นกัน โดยข้อได้เปรียบของลาวด้านการส่งออก คือ เพราะธุรกิจใหญ่ในลาวจำนวนมาก คือธุรกิจจีน
“ลาวจะกลายเป็นศูนย์กลางของหลาย ๆ อย่าง เช่น ศูนย์กลางการค้าผลไม้ในอาเซียนตอนบน ผู้ประกอบการไทยทำได้อย่างเดียวคืออย่าแข่ง แต่ให้หาทางเชื่อมโยง”
“เมื่อ 3 ธันวาคม เมื่อรถไฟจีน-ลาวเปิด สะพานหนองคายแห่งที่ 2 ต้องเสร็จแล้ว แต่ตอนนี้สะพานยังไม่ได้ลงเสาเข็ม ไทยสูญเสียโอกาสไปเยอะเลย เราไม่ให้ความสำคัญกับโอกาสเท่าที่ควร”