ผลงานอีอีซี 2564 ขับเคลื่อนความสำเร็จครบมิติ ก้าวสำคัญ ประเทศมั่งคั่ง ประชาชนสุขล้น
ปี 2564 ถือเป็นปีที่การขับเคลื่อน โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนด้วยดีของรัฐบาล และบูรณาการร่วมกันจากภาคเอกชน ท้องถิ่น และประชาชน จึงทำให้พื้นที่อีอีซีเกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ พร้อมวางรากฐานเพิ่มความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ของชุมชน พัฒนาให้คุณภาพชีวิตคนไทยทุกคนดีขึ้น ก้าวสู่เป้าหมายช่วยให้ประเทศพ้นจากรายได้ปานกลางในอนาคตอันใกล้ โดยส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ การลงทุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งส่งเสริมการลงทุนยกระดับนวัตกรรมใหม่ขับเคลื่อน 4 แกนนำธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) รวมทั้งการเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบด้าน เคียงคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดการทำงานของอีอีซีในปีที่ผ่านมา ได้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อเนื่องได้แก่
1.บันทึกประวัติศาสตร์ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ครบ ไม่พึ่งเงินกู้ต่างประเทศ แถมรัฐได้ผลตอบแทน 2 แสนล้าน โครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) อีอีซีได้ผลักดันเซ็นสัญญาครบทั้ง 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง มูลค่าลงทุนรวมสูงถึง 654,921 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนจากภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท (ร้อยละ 64) และการลงทุนภาครัฐ 238,841 ล้านบาท (ร้อยละ 36) โดยภาคเอกชนจะให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท ถือเป็นประวัติศาสตร์ความสำเร็จครั้งสำคัญของประเทศและอีอีซี ที่ได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่่ เกิดประโยชน์์ต่อประเทศ และประชาชนคนไทยทั้งในปัจจุุบันและอนาคต โดยความสำเร็จนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึงการสร้างนวัตกรรม เพื่อการลงทุนของประเทศภายใต้หลักคิด ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การพึ่งพาตนเอง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยไม่ต้องพึ่งพิงเงินกู้ต่างประเทศเช่นในอดีต รัฐได้ประหยัดงบประมาณโดยร่วมมือกับเอกชนไทย ใช้เงินไทย และบริษัทไทยที่แข็งแกร่งเป็นแกนหลักนำพันธมิตรต่างชาติมาร่วมลงทุน สร้างงานให้คนไทย สร้างผลตอบแทนภาครัฐ รวมทั้งเผชิญความเสี่ยงกับรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การสร้างอนาคตใหม่ร่วมกันทั้งประเทศ รัฐ-เอกชน และประชาชน ให้แก่คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน
2.ดึงลงทุน5 ปีแรกได้ตามเป้าหมาย มั่นใจแผนลงทุนใหม่ สร้างเม็ดเงิน 2.2 ล้านล้าน พาไทยพ้นรายได้ปานกลาง ปี 2564 นี้ อีอีซี ได้เดินหน้าผลักดันการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งได้อนุมัติการลงทุนแล้ว 1.6 ล้านล้านบาทจากมูลค่าเป้าหมายการลงทุนของอีอีซีในแผนแรก (2561-2565) ที่กำหนดเงินลงทุนไว้ 1.7 ล้านล้านบาท(ร้อยละ 94) พร้อมกันนี้ได้กำหนดแผนลงทุนอีอีซีระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) เพื่อขับเคลื่อนต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม.รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงฯ (TOD)
ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ (1) การลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท และ (2) การลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท และยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/ e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน
แผนอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซี เพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) ถือเป็นกลไกหลักช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572
3.ยกระดับแกนนำลงทุนมิติใหม่ ไทยพร้อมรับลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง คู่ดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน แม้เป็นช่วงที่ทั่วโลกและประเทศไทย ต้องพบผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 แต่ อีอีซี ยังคงมุ่งมั่นทำงานหนักต่อเนื่อง และได้สร้างแนวทางส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยจัดกลุ่มอุตสาหกรรมแกนนำการลงทุนใหม่ แบ่งเป็น 1) อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 2) อุตสาหกรรมดิจิทัล 3)อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ และ 4) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยการขับเคลื่อนทั้ง 4 อุตสาหกรรม อยู่ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Circular Economy) และความมุ่งมั่นที่จะให้พื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลกเพิ่มแรงจูงใจและรองรับธุรกิจที่จะมาลงทุนต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ อีอีซีได้ผลักดัน การลงทุนสำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการเปิดสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์ แห่งแรกของโลกในพื้นที่อีอีซี โครงการลงทุนและผลิตแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้าซึ่งได้ร่วมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลก EVLOMO ซึ่งจะมีขนาดกำลังผลิตแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โครงการพัฒนา EV city บ้านฉาง ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในที่พักอาศัย สถานีบริการ และร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนโครงการการผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (ระยองโมเดล) เมื่อแล้วเสร็จ จะรองรับขยะได้สูงถึง 500 ตัน/วัน และผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ เป็นต้น
4.วางกรอบสิทธิประโยชน์ เน้นความต้องการผู้ประกอบการ จูงใจนักลงทุน ใช้นวัตกรรมเคียงคู่สิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงานด้านสิทธิประโยชน์ โดยขยายมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากโครงการที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สู่การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็น พื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) “การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทย ก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด” และจัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุม สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ (Demand Driven Customization) เป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
5.เดินหน้าแผนพัฒนาเกษตร เร่งรัดโครงการ EFC ช่วยเกษตรกรเงินเก็บเพิ่ม ผลไม้ไทยสร้างรายได้ยั่งยืน ซึ่ง อีอีซี ผลักดัน ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (พ.ศ.2566 -2570) และแผนงานโครงการ แนวคิด เน้นตลาดนำการผลิต (Demand Pull) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) สร้างโอกาสการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพดี พร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง จาก 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ อีอีซี เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ GDP ภาคเกษตรในอีอีซี เพิ่มขึ้น รวมทั้ง เร่งขับเคลื่อน โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ร่วมทุนกับเอกชน ท้องถิ่น เน้นสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับจากผลประกอบการ ด้วยแนวคิด การตลาดนำการผลิต วางระบบการค้าสมัยใหม่ E-commerce และ E-auction พัฒนาระบบห้องเย็น-โลจิสติกส์ทันสมัย ที่อีอีซี จะเร่งสร้างโรงงานห้องเย็นให้ทันช่วงหน้าทุเรียนปี 2565 และจัดระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยโครงการ EFC จะสร้างรายได้ 20-30% มูลค่าประมาณ 10,000-15,000 ล้าน/ปี คืนสู่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ระบบห้องเย็นช่วยคงคุณภาพผลผลิต ลดปัญหาขาดแคลนและล้นตลาด ขายได้ราคาเป็นธรรมไม่ถูกกดราคา ส่งออกได้มูลค่าสูง ได้รับเงินจากการขายทันที ให้เกษตรกรไทยมีรายได้ดีมั่นคงอย่างสมดุล
6.เสริมแกร่งยกระดับสาธารณสุข คนไทยเข้าถึงรักษาโรคแม่นยำ หายป่วยง่าย สุขภาพดีทั่วหน้า ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ (ร่าง) แผนการยกระดับระบบสาธารณสุขในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ยกระดับให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่น 2) ยกระดับให้เหนือกว่า เป็น Sandbox ของประเทศ 3) ยกระดับบริการรองรับเมืองการบิน/สนามบิน และ 4) ด้านสุขภาวะของประชาชน เพื่อกำหนดทิศทาง และบทบาท (Positioning) การบริการสาธารณสุขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการข้อมูลชุดเดียวกัน และเครือข่ายเดียวระบบเดียว รวมทั้งปรับแก้กฎระเบียบให้มีความคล่องตัว เพื่อเป็น Sandbox ของประเทศ ยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ให้เป็น Sandbox ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ภายใต้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยโครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 เป็นหนึ่งในโครงการ EEC Project List มีกระทรวงสาธารณสุข และ สกพอ. ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำงานในพื้นที่ ได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทันการ สะดวก ปลอดภัยและมีคุณภาพ ลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่ รวมทั้ง ทำให้สถานประกอบการมั่นใจว่าพนักงานได้รับบริการอย่างทันท่วงทีจากโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน จัดตั้งศูนย์ทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในอีอีซี สกพอ. ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนม (Whole Genome Sequencing) จำนวน 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในวงเงิน 750 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนาศูนย์บริการฯ คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างและลงนามในสัญญาได้ภายในปี 2564เพื่อให้คนไทยทุกคน ได้รับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการไม่ป่วยหนัก และมีสุขภาพดีทั่วหน้าต่อไปในอนาคต
7.จับมือสถาบันการเงินชั้นนำ เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการทุกระดับ เกษตรกร ชุมชน คลายผลกระทบโควิด-19 อีอีซี ได้ร่วม ลงนามความร่วมมือ กับสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ ทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน EXIM BANK บสย.ธนาคารกรุงไทย ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์ และทิพยประกันภัย ออกโปรแกรมทางการเงินเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเร่งบรรเทาผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่างๆ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้านการเงิน ที่พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกระดับในพื้นที่ อีอีซี ทั้งสินเชื่อให้แก่พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย สื่อเชื่อรูปแบบพิเศษผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละกลุ่ม สินเชื่อเพื่อยกระดับเกษตรกรไปสู่การทำธุรกิจการเกษตรให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ อีอีซี โดยส่วนใหญ่ จะเป็นเงินกู้ประเภทดอกเบี้ยต่ำ และระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพให้เกิดความเข้มแข็งยกระดับรายได้ต่อเนื่อง เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงซึ่งการเสริมสภาพคล่องในพื้นที่อีอีซีนี้ จะเป็นต้นแบบเพื่อนำไปใช้พัฒนาพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไปในอนาคต โดยผลการปล่อยสินเชื่อที่สำคัญ ๆ เช่น จากธนาคารออมสิน ซึ่งได้มีการปล่อยสินเชื่อพิเศษในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพและใช้จ่ายตามความจำเป็น สินเชื่อเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ได้เกิดวงเงินสินเชื่อรวมสูงถึง3,039 ล้านบาท สามารถเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกประเภท และชุมชน ให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน ได้กว่า 9,031 ราย
8.ต่อยอดใช้ประโยชน์ 5G ครบมิติ “สร้างชุมชนต้นแบบ ส่งเสริมโรงงานอัจฉริยะ พัฒนาทักษะบุคลากร” การผลักดันใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้พื้นที่อีอีซีเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก และประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ขับเคลื่อนการใช้ 5G โดยการใช้ประโยชน์จาก 5G และการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่ อีอีซี มีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ ด้านสัญญาณ ได้ติดตั้ง ท่อ เสา สาย และสัญญาณ รวม 100% แล้ว ในพื้นที่อีอีซี ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากสัญญาณ 5G เช่น เพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต ผลักดันภาคธุรกิจ โรงงานในอีอีซี 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง หน่วยราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล กลุ่ม SMEs ให้มาใช้ 5G พร้อมเริ่มนำร่องนำ 5G สร้างประโยชน์ชุมชน โดยผลักดันให้บ้างฉาง ก้าวสู่ต้นแบบชุมชนอนาคต (Smart city) รวมทั้งนำ 5G มาใช้ประโยชน์ในแผนพัฒนาภาคเกษตร เกิดระบบเกษตรอัจฉริยะ (precision farming) และสนับสนุนการใช้ดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพชุมชน รวมถึงการสร้างธุรกิจใหม่จาก 5G ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น ส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านดิจิทัลและการใช้ข้อมูล และส่งเสริม Start up ทำแอปพลิเคชั่นด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่น
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำ และสนับสนุนให้ทุกบริษัทที่จะมาลงทุนด้านดิจิทัล ให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยได้มีความร่วมมือกับหัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี พัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ผ่านการจัดสัมมนา workshop อบรมบุคลากรร่วมกัน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกเพื่อขับเคลื่อน อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล ให้ได้ 30,000 คนภายในเวลา 3 ปี รวมทั้งได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือ MOU ที่สำคัญ ๆ ไปแล้ว เช่น ความร่วมมือ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ผลักดัน EEC Automation Park เน้นการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ เป้าหมาย 8,000 โรงงานในอีอีซี รวมกับ ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก CISCO – MAVENIR-5GCT- Planet Com ดำเนินการปรับทักษะ New -Up-Re skill บุคลากรดิจิทัล 40,000 คน ภายใน 3 ปี เป็นต้น
9.พลิกโฉม NEOPATTAYA ยกเครื่องตลาดลานโพธิ์ สร้างรายได้ท่องเที่ยวสู่ชุมชน ซึ่งอีอีซีได้ร่วมกับเมืองพัทยา ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือเป็นโครงการนำร่อง ตามแนวทาง NEO PATTAYA ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และท้องถิ่น เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี พัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดยรักษาความเป็นเมืองเก่าของนาเกลือ ควบคู่กับการเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำของ อีอีซี ปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างตลาดใหม่ลานโพธิ์นาเกลือ โดยออกแบบผังแนวคิด (Conceptual Design) ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และยังคงอัตลักษณ์ชุมชน พร้อมทั้งจัดทำรูปแบบการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน วงเงินร่วมทุนไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ได้มีการประชุมร่วมกับนายกเมืองพัทยา เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ และอยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน โดยเมืองพัทยาได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารจอดรถ พร้อมทั้งเตรียมปรับปรุงภูมิทัศน์รอบพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ เช่น ปรับปรุงสวนสาธารณะ ก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ปรับปรุงจุดชมทัศนียภาพ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนหลังสถานการณ์ COVID-19 ผลักดันสู่การเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบบูรณาการระหว่างรัฐ เอกชน และท้องถิ่น อย่างแท้จริง
10.สร้างต้นแบบ EEC model เยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ตกงาน แรงงานไทย ได้งานดี รายได้สูง ซึ่ง อีอีซี ให้ความสำคัญการพัฒนาทักษะบุคลากรอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา ตามแนวทาง EEC model ต้นแบบการศึกษายุคใหม่ ผลิตคนจริง ตรงตามความต้องการ (Demand Driven Education) เป้าหมาย คือ ต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชน มีงานทำ รายได้ดี ด้วยความสามารถ โดยที่ผ่านมาได้ผลิตบุคลากรร่วมกับภาคเอกชนด้วยกลไกที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีส่วนร่วมออกแบบหลักสูตร (Co-endorse) และร่วมจ่าย (Co-pay) เพื่อให้มั่นใจว่าได้คนตรงตามความต้องการจริง ซึ่งมีทั้งรูปแบบเอกชนจ่าย 100%จบมามีทำงานทันที โดย ตั้งเป้าการพัฒนาบุคลากร ผลิตคนให้ได้ 120,000 คน ภายในปี 2566
สำหรับการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาบุคลากร ในระยะต่อไป เตรียมจัดอบรม(EEC Type B) อาทิ โครงการฝึกอบรมระยะสั้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานได้จริง โครงการฝึกอบรมระยะสั้นภาคยานยนต์ เพื่อรักษาการจ้างงานพร้อมกับพัฒนาทักษะใหม่ และโครงการฝึกอบรมระยะสั้น ภาคท่องเที่ยว ยกระดับบุคลากรท่องเที่ยวกับการปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวใหม่ (EEC Local Wisdom Tourism) โดยเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรรวมจำนวน 25,450 คน แบ่งเป็นการฝึกอบรมบุคลากรตามแผน 13,130 คน และการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 12,320 คน และในปี 2565 วางเป้าหมายจะพัฒนาทักษะบุคลากรได้รวม 36,700 คน
ขอบคุณ : FB โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC
ที่มา – https://www.banmuang.co.th/news/politic/264816