โมเดลอุตฯ ราง ‘อีอีซี’ หนุนพัฒนาไฮสปีด-ทางคู่

สกพอ.-กรมการขนส่งทางรางลุยตั้งอุตสาหกรรมระบบรางในไทย ชี้เป้าหมาย 5 ปีต้องประกอบชิ้นส่วน 100% เผย “บีทีเอส” นำร่องรถไฟฟ้าสายสีชมพู – เหลือง ดึงใช้ชิ้นส่วนซัพพลายเออร์ไทย

การพัฒนาระบบรางในประเทศขยายตัวมากขึ้นทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมระบบรางได้ โดยเฉพาะการวางแผนการเดินรถและซ่อมบำรุง การก่อสร้างและงานระบบ และการบริหารจัดการขนส่ง

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.ได้เตรียมแผนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความน่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับระบบราง โดยจะมีการส่งเสริมให้เชื่อมโยงกับการพัฒนา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ในประเทศไทยที่กำลังการการขยายเส้นทางเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนระบบรางของภูมิภาคได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับอิตาลี และสหภาพยุโรป (EU) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย ซึ่งจะสามารถรองรับแรงงานและอุตสาหกรรมบางส่วนจากภาคยานยนต์สันดาป และชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมที่ต้องมีการปรับตัวเมื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมให้กับภาคยานยนต์ของไทยด้วย

 รายงานข่าวระบุว่า บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้กำหนดพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่จะมาร่วมพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง คือ Ferrovie dello Stato Italiane จากประเทศอิตาลี  ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจบริการรถไฟในประเทศอิตาลี รวมทั้งดําเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาและบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ไต้หวัน

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายให้ผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางให้เกิดการพัฒนาในไทย โดยมีเป้าหมายภายใน ปี ไทยจะเป็นประเทศในอาเซียนที่มีการประกอบชิ้นส่วนระบบราง เป็นฝีมือคนไทยในการผลิตและประกอบรถไฟ และรถไฟฟ้าเองได้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันระบบขนส่งทางรางให้เป็น 30% ของการขนส่งในประเทศ

ตอนนี้กรมฯ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบขนส่งทางราง ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นองค์กรแรกในการเริ่มผลิตชิ้นส่วนและนำร่องนำชิ้นส่วนมาประกอบในไทย 100% ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จภายใน ปีนับจากนี้”

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งส่วนผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางในไทย นอกจากการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว กระทรวงคมนาคมยังมีนโยบายกำหนดในการจัดซื้อจัดจ้างระบบรางหลังจากนี้ โดยขอให้ทุกสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างมีการพิจารณากำหนดนำชิ้นส่วนหรือการมีส่วนร่วมจากผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ในไทย เช่น กำหนดจัดซื้อชิ้นส่วนขนาดเล็ก น็อต หรือยางล้อ ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตมาเป็นส่วนประกอบ

รวมทั้งปัจจุบันมีเอกชนที่กำหนดเงื่อนไขจัดซื้อจัดจ้างหาชิ้นส่วนที่ผลิตในไทยมาเป็นส่วนประกอบรถไฟหรือรถไฟฟ้าแล้ว เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส มีการกำหนดจัดหาส่วนประกอบรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง โดยระบุให้บริษัทบอมบาร์ดิเอร์ ผู้รับผิดชอบงานระบบรถไฟฟ้า ต้องนำชิ้นส่วนล้อยางจากซัพพลายเออร์ในไทยมาเป็นส่วนประกอบและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทย เพื่อเป็นการเริ่มต้นพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมระบบรางในไทย

ตอนนี้ไทยเรามีความพร้อมเรื่องการผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางอยู่แล้ว เรามีซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนทางรางอยู่ประมาณ 200 แห่ง แต่เป็นการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก ตอนนี้เราต้องพัฒนาให้เริ่มมีการซ่อมระบบราง และต่อยอดไปถึงการผลิตของที่ซ่อม เริ่มนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบ และผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบเอง ส่วนเรื่องบุคลากรปัจจุบันเราก็มีพร้อม บุคลากรจบใหม่ที่มีความรู้เรื่องวิศวกรระบบรางจากสถาบันในไทยรวมกว่า 20 แห่ง”

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบัน และการสรรหาเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน โดยสถาบันเทคโนโลยีระบบรางตั้งขึ้นเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง สร้างความร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง

รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและการสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศอย่างแท้จริง มีเป้าหมายเร่งด่วน คือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศ ได้ตามนโยบาย Thai First

อย่างไรก็ดี เป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง เบื้องต้นประเมินว่าหากมีการลงทุนเพื่อรองรับการพัฒนารถไฟและรถไฟฟ้า 1,000 ตู้ จะก่อให้เกิดการลงทุนขั้นต่ำกว่า 500 ล้านบาท ไทยจะซื้อรถไฟได้ในราคาลดลงราว 2,800 ล้านบาท เกิดมูลค่าการจ้างงานกว่า 2,000 ล้านบาท และหากมีการพัฒนาชิ้นส่วนในประเทศ จะสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป้าหมายของรัฐบาลต่อการผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางในไทย กำหนดไว้ว่าภายในปี 2565 จะส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ประกอบขั้นสุดท้ายในไทยเพื่อผลักดันให้เกิดการประกอบชิ้นส่วนในประเทศมากที่สุด

หลังจากนั้นในปี 2567 ต้องส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตในไทยทั้งหมด โดยต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่น้อยกว่า 40% ของราคารถไฟและรถไฟฟ้า และในปี 2568 ต้องส่งมอบเฉพาะตู้รถไฟและระบบอาณัติสัญญาณต้องผลิตในไทยทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลักที่เป็นสาระสำคัญ เช่น ระบบตัวรถ ระบบช่วงล่าง ระบบขับและควบคุม เป็นต้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/950792

 

Scroll Up