สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานความคืบหน้าแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากแผนการพัฒนา 168 โครงการ วงเงินรวมกว่า 9.88 แสนล้านบาท
ปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินการและก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 69 โครงการ เช่นเดียวกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ในปี 2564 หลายโครงการเริ่มขยับลงพื้นที่ เริ่มก่อสร้างเป็นรูปแบบแล้ว
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ได้แก่
1.การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว นอกจากนี้ การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง การส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาของ ร.ฟ.ท. ที่เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อเนื่องเช่นกัน และจะพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือน ก.ย. 2564
2.เริ่มงานก่อสร้าง ถนนสะพาน บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นส่วน โดยปัจจุบันเอกชนคู่สัญญา ได้ดำเนินการออกแบบ และเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง (Early work) เช่น ก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้างโครงการ (Access road and temporary bridge) ก่อสร้างสำนักงานสนาม (Site office) บ้านพักคนงาน (Labour camp) และก่อสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่ง (Concrete yard) แล้ว โดยมีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้างโครงการทันที เมื่อได้รับมอบพื้นที่โครงการช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา จาก ร.ฟ.ท. โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5ปี และจะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568 ตามแผนเร่งรัด
3.ปรับปรุงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ ขณะนี้ ร.ฟ.ท. พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งยืนยันว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการในวันที่ 24 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ยังสามารถใช้บัตรโดยสารรายเดือนเดิมของ ร.ฟ.ท.ได้ต่อไปหลังการถ่ายโอน และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนบัตรโดยสารใหม่ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับใช้ระบบการชำระค่าบริการที่สะดวกแลละสอดรับต่อพฤติกรรมผู้โดยสาร เช่น การซื้อบัตรโดยสารผ่านคิวอาร์โค้ด
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน คืบหน้าตามแผนโดย ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เดือน ก.ย.นี้ ส่วนเรื่องการรื้อย้ายสาธารณูปโภคและการเวนคืนที่ก็ไม่ติดปัญหา อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ทางเอกชนได้เข้าพื้นที่เพื่อปรับปรุงงานเบื้องต้น รองรับการเริ่มงานทันทีเมื่อส่งมอบพื้นที่
ด้านความคืบหน้าโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พบว่า กองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ได้ดำเนินการออกแบบทางวิ่งที่ 2 แล้วเสร็จ ประกอบด้วย ทางวิ่ง 3,505 เมตร ทางขับที่เกี่ยวข้อง 6 เส้นทาง อุโมงค์ลอดใต้ทางวิ่งงานระบบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ส่วนงานก่อสร้างระบบไฟฟ้า น้ำเย็น และงานประปาและระบบน้ำเสียได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนแล้ว
ขณะที่เอกชนคู่สัญญาในโครงการ “สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ได้เข้าสำรวจพื้นที่โครงการพร้อมก่อสร้างรั้วมาตรการเขตการบิน ความยาว 4.9 กิโลเมตร แล้วเสร็จ 95% รวมถึงงานออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ซึ่งทาง UTA ได้ว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก บริษัทสถาปนิก SOM เข้ามาดำเนินการ
ส่วนโครงการ “ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา” ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิบริหาร ปัจจุบันการบินไทยได้หยุดปฏิบัติการและเริ่มรื้อย้ายศูนย์ซ่อมอากาศยานในพื้นที่เดิม เพื่อส่งมอบพื้นที่พัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยสิทธิในการพัฒนาศูนย์ซ่อมแห่งใหม่ ขณะนี้เนื่องจากการบินไทยยังอยู่ในช่วงรอพิจารณาแผนฟื้นฟูจากศาลล้มละลายกลาง จึงยังไม่สามารถขับเคลื่อนหาพันธมิตรได้
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การบินเตรียมประกาศเชิญชวนจัดหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาศูนย์ซ่อมให้สอดคล้องการรื้อย้ายพื้นที่ใหม่ โดยจะเปิดกว้างให้เอกชนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินทั้งการซ่อมอากาศยานหรือสายการบิน ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายหลังแผนฟื้นฟูกิจการผ่านการเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลาง
ในขณะที่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่างสัญญา ก่อนเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่ออนุมัติร่างสัญญา และประกาศผลเพื่อดำเนินการลงนาม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าตามกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้
รายงานข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า ความคืบหน้า โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส3 ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 1 (NTP1) ให้ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยระบุวันเริ่มนับระยะเวลาของโครงการเป็นวันที่ 1 ก.ค.2564 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
สำหรับท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย โดยหลังพัฒนาเสร็จจะมีความสามารถขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว 16 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 12 ราย เป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ 3 ราย โดยปัจจุบันมีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/946765