กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งเวนคืนที่ดินและรื้อย้ายสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนกันยายน 2564
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการส่งมอบพื้นที่ และเตรียมเดินหน้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ครั้งที่ 4/2564 (ครั้งที่15) ว่าที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญคือ การส่งมอบพื้นที่ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภาให้กับเอกชนคู่สัญญา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการประมาณ 5,521 ไร่ มีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 88 โดยได้สั่งการและมอบนโยบายในการดำเนินงาน เพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามกำหนด เวลาที่ตั้งไว้ คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ได้ทั้งหมดในเดือนกันยายน 2564 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนฯ ก่อนถึงกำหนดส่งมอบตามสัญญาในเดือนตุลาคม 2564
โดยมีรายละเอียดเนื้องานที่สำคัญประกอบด้วย (1) การเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำสัญญาซื้อขายแล้ว 634 สัญญา มูลค่า 3,599 ล้านบาท จากจำนวน 737 สัญญา มูลค่า 4,121 ล้านบาท
(2) การโยกย้ายผู้บุกรุก ที่กีดขวางการก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ได้ดำเนินการโยกย้ายแล้วเสร็จ 100 % และ
(3) งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูโภคช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาแล้วเสร็จ 257 จุด และอยู่ระหว่างการรื้อย้าย 396 จุด ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินงาน เพื่อให้แล้วเสร็จทันตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ (คือภายในเดือนกันยายน 2564)
ด้านความคืบหน้าของเอกชนคู่สัญญาปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง เช่น งานปรับพื้นที่ งานก่อสร้างถนน งานก่อสร้างสะพานชั่วคราว งานก่อสร้างสำนักงานสนาม บ้านพักพนักงาน และงานเจาะสำรวจดิน เป็นต้น
ในส่วนการเข้าบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบัน เอกชนคู่สัญญา ได้นำผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบสถานะด้านเทคนิคแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างออกแบบเพื่อปรับปรุงการให้บริการ และเตรียมการฝึกอบรมบุคลากร นอกจากนี้ ยังเตรียมการปรับปรุงการให้บริการของสถานี ปรับปรุงการเดินรถไฟให้ทันสมัย ตรงเวลา และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่ดี มีความสะดวกสบาย โดยเอกชนคู่สัญญามีกำหนดเข้าบริหารโครงการได้ในช่วงเดือนตุลาคม 2564