คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบกลาง 568 ล้าน เวนคืนที่ดินในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่งมอบที่ดินให้เอกชนก่อนเส้นตาย 24 ตุลาคม นี้
วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 568 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ภายใต้แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ (สกพอ.)
ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐต้องส่งมอบพื้นที่โครงการช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้เอกชนคู่สัญญาภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาได้ทันตามที่กำหนด ไม่เช่นนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมีความเสี่ยงที่จะผิดสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งคู่สัญญาอาจมีหนังสือแจ้งรฟท.ให้สัญญาร่วมลงทุนมีผลสิ้นสุดลง หรือใช้สิทธิ์เรียกค่าเสียหายได้แก่ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย
วงเงินที่ ครม.อนุมัติในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจาก มติ ครม. เมื่อ 30 มีนาคม 2564 ได้รับทราบการขยายกรอบวงเงินค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฯ จากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นไม่เกิน 5,740 ล้านบาท จากเดิม 3,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,170 ล้านบาท ซึ่งในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ให้ รฟท. ขอจัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1)จำนวน 580 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบกลางฯ ปีงบประมาณ 2564 ส่วนที่เหลือให้ สกพอ. โอนจากงบบูรณาการภายใต้แผนงานบูรณาการ EEC และ 2)จำนวน 1,562 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณ ปี 2565
ทั้งนี้ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนี้ เป็นการพัฒนาพื้นที่โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์เดิม ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึงพญาไท จำนวน 10 สถานี และโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา จำนวน 5 สถานี รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง
เชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินกิจการ และบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้รับความเสี่ยงเกี่ยวกับรายได้ค่าโดยสารและปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการทั้งหมด คาดว่าในปีที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารประมาณ 1.47 แสนคนต่อวัน
โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ 1)สร้างงานระหว่างการก่อสร้าง 1.6 หมื่นอัตรา เกิดการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 1แสนอัตราในช่วง 5 ปี 2)เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ เช่น เหล็กจำนวน 1 ล้านตัน ปูนจำนวน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 3)เพิ่มมูลค่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ในรัศมี 2 กิโลเมตร ตามเส้นทางรถไฟกว่า 2.14 แสนล้านบาท ส่วนความคืบหน้าของโครงการ รฟท. จะส่งมอบพื้นที่โครงการช่วงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เอกชนคู่สัญญาภายในวันที่ 24 ตุลาคมนี้
ที่มา : www.prachachat.net/property/news-681805