ซี.พี.ปฏิวัติธุรกิจรถไฟฟ้า จ่ายค่าต๋งหมื่นล้านเทกโอเวอร์แอร์พอร์ตลิงก์ วิ่งรถครั้งแรก 25 ต.ค. สัมปทาน 50 ปี ค่าโดยสาร 15-45 บาท รีแบรนด์ชื่อใหม่ จ้างอิตาลีเดินรถ ทุ่ม 2 พันล้าน ดัดแปลงโบกี้ขนกระเป๋า จุผู้โดยสารเพิ่ม อัพเกรดระบบตั๋วจ่ายผ่านทรูมันนี่วอลเลต ผุดถนนเชื่อมสถานี จัดระเบียบที่จอดรถ ร.ฟ.ท.อัดเวนคืน 4.7 พันล้าน เร่งส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ตอกเข็มปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 24 ต.ค. 2564 จะครบกำหนด 2 ปีที่รัฐบาลเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่ม ซี.พี.) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รับสัมปทาน 50 ปี ก่อสร้างและเดินรถโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ)
จ่ายก้อนแรกหมื่นล้าน
แหล่งข่าวจาก บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดือน ต.ค.นี้ บริษัทจะจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อรับโอนโครงการ ก่อนเข้าบริหารการเดินรถในวันที่ 25 ต.ค. 2564 โดยมีบริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) จากประเทศอิตาลี เป็นผู้รับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการทั้งแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูง
“ต้องจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตลิงก์ใน 2 ปี จะครบวันที่ 24 ต.ค.นี้ จ่ายแล้วเปิดเดินรถได้เลยวันแรก 25 ต.ค.เป็นต้นไป จนถึง 50 ปี สัมปทานจะบวกเพิ่ม 2 ปี จาก 48 ปี เป็น 50 ปี สิ้นสุดพร้อมรถไฟความเร็วสูง”
ล่าสุดบริษัทกำลังทำแผนเตรียมเข้าเทกโอเวอร์แอร์พอร์ตลิงก์ พร้อมการรีแบรนดิ้งโครงการใหม่ ทั้งเปลี่ยนชื่อ “ARL” และปรับโลโก้ให้รับกับรถไฟความเร็วสูง เพราะอนาคตไม่ได้มีแค่แอร์พอร์ตลิงก์ แต่บริษัทกำลังทำข้อเสนอให้ผู้บริหารเลือก คาดได้ข้อสรุปใน 1 เดือนนี้ เมื่อได้แบรนด์แล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านอื่น เช่น สีสัญลักษณ์ เครื่องแบบพนักงาน
แอร์พอร์ตลิงก์มี 8 สถานี ได้แก่ พญาไท ราชปรารภ มักกะสัน รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง และสุวรรณภูมิ เมื่อเปิดเดินรถจะมีรายได้จากค่าโดยสาร แต่ช่วงแรกคงไม่มาก เพราะผู้โดยสารลดลงอยู่ที่ 40,000 เที่ยวคน/วัน จากเดิมก่อนโควิด-19 ระบาดจะอยู่ที่ 80,000-90,000 เที่ยวคน/วัน ปัจจุบันมีรายได้ 600 ล้านบาท ขาดทุน 400 ล้านบาทต่อปี
ทุ่ม 2 พันล้านอัพเกรด
ในการเข้าบริหารแอร์พอร์ตลิงก์นั้น บริษัทเตรียมเงินลงทุนช่วงแรก 2,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการและระบบต่าง ๆ เช่น ระบบเบรก อาณัติสัญญาณ เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง โดยปรับปรุงระบบฮาร์ดแวร์ให้ทันสมัยขึ้น เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบวิทยุ อุปกรณ์ต่าง ๆ เนื่องจากไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เปิดบริการมา 10 ปี พร้อมปรับปรุงตกแต่งสถานีและติดเครื่องปรับอากาศ เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง
รวมถึงปรับปรุงบริการให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น โดยดัดแปลงขบวนรถ express line จำนวน 4 ขบวน ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ 3 ตู้/ขบวน อีก 1 ตู้สำหรับขนสัมภาระกระเป๋า จะปรับพื้นที่ให้รองรับผู้โดยสารมากขึ้น เพิ่มขึ้นขบวนละ 200 คน รวม 4 ขบวน อยู่ที่ 800 คน
“ช่วงแรกปรับปรุงรถเก่า 9 ขบวน เป็น express line 4 ขบวน และ city line 5 ขบวน ให้ขนผู้โดยสารได้มากขึ้น ระหว่างรอซื้อรถใหม่ที่ใช้เวลาผลิตถึง 2 ปี ตามแผนจะซื้อพร้อมขบวนรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างคัดเลือกระบบ ซึ่งมีเอกชนเสนอให้พิจารณาหลายระบบ เช่น ซีเมนส์ บอมบาร์ดิเอร์ อัลสตรอม ฮุนได โลเธมจากเกาหลีใต้ CRRC-Sifang จากจีน และฮิตาชิจากญี่ปุ่น”
อัพเกรดตั๋วผ่านทรูมันนี่
จะปรับปรุงพื้นที่จอดรถ เช่น สถานีมักกะสัน ทับช้าง ลาดกระบัง ตามสัญญาบริษัทไม่ได้สิทธิบริหาร แต่ได้เจรจากับ ร.ฟ.ท.ขอให้บริษัทเข้าไปจัดระเบียบใหม่ เพื่อทำที่จอดรถใหม่พร้อมเก็บค่าจอดในราคาไม่แพง
“กำลังพิจารณาอาจทำระบบฟีดเดอร์เป็นรถชัตเติลบัส รับส่งคนเข้ามายังสถานีและระบบขนส่งมวลชนอื่น เพราะปัจจุบันการเข้ามาใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ลำบาก การมีฟีดเดอร์อำนวยความสะดวกทำให้คนใช้บริการมากขึ้น ต่อไปจะสร้างถนนเข้า-ออก ทางเดินเข้าสถานีทุกสถานี เช่น มักกะสัน มีทางเชื่อมใต้ดินกับสายสีน้ำเงินที่สถานีเพชรบุรี”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนของพนักงานตามที่ FS ทำโครงสร้างมีโอนจากแอร์พอร์ตลิงก์เดิมและเปิดรับใหม่ เพื่อทำการเทรนนิ่ง ด้านพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานี ต้องรออีก 3 ปี ให้สัญญาเก่าหมดก่อน จากนั้นบริษัทคงต้องทำใหม่
“ระบบเก็บค่าโดยสารของแอร์พอร์ตลิงก์จะอัพเกรดรับระบบ TrueMoney Wallet นอกจากระบบตั๋วร่วมของรัฐ โดยจะออกแบบบัตรโดยสารใหม่ให้ใช้ร่วมกับระบบรถไฟฟ้าได้ เพราะรูปแบบเดิมไม่มีที่สแกน เพื่อให้ผู้โดยสารเติมเงินในบัตรโดยสารได้”
ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดคืบ 40%
สำหรับการส่งมอบพื้นที่รถไฟความเร็วสูง ล่าสุด ร.ฟ.ท.แจ้งว่าจะส่งมอบช่วงแรกสนามบินสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. ในเดือน ส.ค. หรือไม่เกินเดือน ต.ค. 2564 ตามกรอบเวลา 2 ปี เมื่อได้พื้นที่จะเริ่มสร้างทันที โดยมี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ก่อสร้างงานโยธา ส่วนระบบรางมี บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) ดำเนินการ ทั้งโครงการจะใช้เวลาสร้าง 5 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการเดือน ส.ค. 2569 ส่วนช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม. จะส่งมอบพื้นที่ไม่เกิน 4 ปี ตามแผนเปิดบริการเดือน ส.ค. 2570
การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี หรือ TOD สถานีมักกะสัน 140 ไร่ สถานีศรีราชา 25 ไร่ จะได้รับมอบพื้นที่พร้อมกับรถไฟความเร็วสูง แต่การพัฒนาต้องรออีก 1 ปี
“ย้ายตำแหน่ง 3 สถานี คือ ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ยังไม่มีความชัดเจนจากผู้ใหญ่ ส่วนสถานีอู่ตะเภา สิ้นเดือน ก.พ.จะหารือกับกลุ่มบีทีเอสผู้พัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา ถึงตำแหน่งสถานี เบื้องต้นสร้างลอดใต้ถนนสุขุมวิทห่างจากอู่ตะเภาประมาณ 300-400 เมตร แล้วเลี้ยวเข้ามายังสนามบิน แต่ขยับสถานีอยู่ด้านหน้าอาคารผู้โดยสารใหม่”
ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งมอบพื้นที่น่าจะไม่เกินไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ทั้งหมดยังอยู่ในกำหนดเวลา แต่ก็กังวล ถ้าส่งมอบพื้นที่เป็นฟันหลอ
“การลงทุนปีนี้จ่ายค่าแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท มีปรับปรุงหลายอย่าง มีค่าสร้างไฮสปีดจะใช้เงินระดับหมื่นล้าน”
ย้ายสถานียังไม่นิ่ง
ส่วนการย้ายสถานีไฮสปีดใหม่ เนื่องจากดูตามความเหมาะสม ต้องไปในจุดที่สะดวกและมีผู้คนเยอะ บางที่สภาพเก่าเสื่อมโทรมมาก มีเงื่อนไขมาก ก็ต้องดูใหม่ แต่ดีกว่าเก่าแน่นอน ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ไหน
“TOD มักกะสันอยู่ระหว่างออกแบบ และกระบวนการต่าง ๆ เป็นเรื่องใหญ่มาก ยากกว่าสร้าง ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี แต่สร้างจริง ๆ 2 ปีก็เสร็จ”
นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า สิ้นเดือน ก.พ.นี้ กลุ่ม ซี.พี.จะทำแผนการเข้าเทกโอเวอร์แอร์พอร์ตลิงก์ให้ ร.ฟ.ท.พิจารณา ทั้งก่อนและหลังรับโอนโครงการจะต้องทำอะไรบ้าง จะมีที่ปรึกษามาตรวจสอบความพร้อม ก่อนจะเข้ามาเดินรถเดือน ต.ค.นี้ ส่วนค่าโดยสารในระยะแรกยังเก็บอัตราเดิม 15-45 บาท จะปรับขึ้นหลังรถไฟความเร็วสูงเปิดบริการแล้ว ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ทุก ๆ 36 เดือน และเก็บตามระยะทาง
ส.ค.ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด
ด้านการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ทาง ร.ฟ.ท.ไม่รอกลุ่ม ซี.พี.แจ้งการย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ ล่าสุดเวนคืนไปก่อน ทำสัญญาจ่ายค่าทดแทนให้กับผู้ถูกเวนคืนแล้วกว่า 50% จาก 679 หลังคาเรือน 923 ไร่ ใช้เงินเวนคืน 4,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,000 กว่าล้านบาท จากเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 3,570 ล้านบาท ส่วนที่เพิ่มขึ้นกำลังขออนุมัติจากคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
“ต้องขออนุมัติค่าเวนคืนเพิ่ม มี.ค.-เม.ย.นี้ ต้องเร่งส่งมอบพื้นที่เฟสแรก สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้กลุ่ม ซี.พี. ส.ค.-ก.ย.นี้ ส่วนช่วงพญาไท-ดอนเมือง ส่งมอบ ต.ค. 2566 ติดรื้อย้ายสาธารณูปโภค ผู้บุกรุกอีก 782 หลัง”
นายสุจิตต์กล่าวว่า การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค จำนวน 756 จุด หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังเร่งดำเนินการจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ จะล่าช้ามีท่อระบายน้ำไซฟ่อนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และท่อน้ำมันของ FPT จะเสร็จต้นปี 2566
ที่มา : https://www.prachachat.net