‘สุทธิพงษ์ คงพูล’ ผอ.กพท.ประเมิน 10 ปี ไทยมีเที่ยวบินพุ่ง 2 ล้านไฟล์ท หลังปี 66 เที่ยวบินฟื้นกลับมาแตะ 1 ล้านไฟล์ท มองไฮสปีด 3 สนามบิน มีไว้ดีกว่าไม่มี เพราะเป็นส่วนเสริมสนามบินอู่ตะเภา เชื่อแค่ช้า ยังไม่ล้ม ด้าน ทร.ใจชื้นโควิดคลี่คลาย อู่ตะเภาเที่ยวบินคึกคักกลับมาแตะ 4 แสนไฟล์ท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 มีนาคม 2567 นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสนามบินสาธารณะ จำนวน 39 แห่ง ในจำนวนดังกล่าว มีสนามบินที่เปิดให้บริการระหว่างประเทศ จำนวน 10 แห่ง
กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานสนามบินสาธารณะของไทย จึงให้ความสำคัญกับการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะสำหรับสนามบินที่ให้บริการระหว่างประเทศ (International airport) เป็นลำดับแรก ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับการตรวจสอบจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) โดยในปัจจุบันมีสนามบินที่ถือใบรับรองฯ จำนวน 9 แห่ง โดย 8 แห่งเป็นสนามบินที่เปิดให้บริการระหว่างประเทศ
@อู่ตะเภา เป็น สนามบินสาธารณะแล้ว
สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา เป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ ความยาวทางวิ่ง 3,505 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้ทั้ง B777 , B787 , A330 รวมถึง Antonov โดยท่าอากาศยานได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และดำเนินการตามกระบวนการจนได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565
ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ได้ให้บริการทั้งการบินภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง และอยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ที่เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้ทั้ง 3 ท่าอากาศยานสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมื่อสนามบินได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะแล้ว กพท. จะมีการตรวจติดตามมาตรฐานสนามบินเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สนามบินยังคงได้มาตรฐานในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับการดำเนินงานประกอบใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาได้รับใบรับรองฯ เมื่อปี 2565 กพท. ก็ได้ดำเนินการตรวจติดตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ติดตามมาตรฐาน ด้านแผนฉุกเฉินและดับเพลิงกู้ภัย ด้านการดำเนินงานในเขตการบิน และการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และ ติดตามมาตรฐาน ด้านแผนฉุกเฉินและดับเพลิงกู้ภัย ด้านกายภาพสนามบิน และด้านเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ประเภททัศนวิสัย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566
@ทำนายอีก 10 ปี เที่ยวบินไทยพุ่ง 2 ล้านไฟล์ท/ปี
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ปริมาณเที่ยวบินมีสถิติสูงสุดเมื่อปี 2562 ที่ 1.07 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งขณะนั้นถือว่า การให้บริการมีความหนาแน่นมาก และ มีการคาดการณ์ว่า อีก 10 ปี จะมี 2 ล้านเที่ยวบิน และไทยจะมีปริมาณเที่ยวบินเป็นอันดับ 9 ของโลก จึงต้องคิดว่าจะรองรับเที่ยวบินเพิ่มอีก 2 เท่า อย่างไร ทั้งในส่วนของสนามบินและเส้นทางบิน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งวางแผนเพิ่มขีดความสามารถรองรับ ส่วนการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เมืองการบินอู่ตะเภาเมืองการบิน หากเอกชนไม่เห็นโอกาส ก็คงไม่เข้าร่วมประมูล
@มองในแง่ดี ไฮสปีดไม่ล้ม เชื่อมีดีกว่าไม่มี
ส่วนปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของอู่ตะเภาเมืองการบินเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องกำลังช่วยแก้ปัญหา ทั้งนี้แม้ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะล่าช้าไปบ้าง แต่หากแยกเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้นไม่ได้มีผลกระทบในการก่อสร้างให้เสร็จตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามการมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินดีกว่าการไม่มี เพราะจะส่งผลดีต่อสนามบินทั้ง 3 แห่ง
ตามแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป้าหมายจะทำให้มีศักยภาพไม่น้อยกว่าสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน แนวโน้มการเติบโตการบินของไทยสูงมาก ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีสนามบินขนาดใหญ่ ซึ่งอู่ตะเภาเป็นคำตอบ และจะทำให้มั่นใจว่า ประเมศไทยมีความสามารถที่จะรองรับตลาดการบินที่เพิ่มขึ้นได้และช่วยทำให้เกิดความคล่องตัวในระบบการบิน การจัดการห้วงอากาศ ของที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วย
“สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินกำหนดเปิดใช้งานปี2571 แต่จะช้าไปอีกแค่ไหนภายในปี2567 ไม่เกินต้นปี2568 น่าจะเห็นความชัดเจนอย่างไรก็ตามปริมาณเที่ยวบินจากจีนที่เคยเป็นตลาดใหญ่สุดยังไม่กลับมา รัสเซีย กลับมาบ้างแต่ยังไม่เท่าเดิม แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้แน่นอน” นายสุทธิพงษ์กล่าว
สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
@ปี 66 ‘อู่ตะเภา’ ฟื้น ผู้โดยสาร 4 แสนคน/ปี
ด้านนาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า ปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา มีความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 3 ล้านคน รองรับเที่ยวบินได้ 17 เที่ยวบิน/ชั่วโมง โดยมี 52 หลุมจอด ช่วงปี2562 ก่อนเกิดโควิด-19 มี ผู้โดยสารรวม1.63 ล้านคน มีผู้โดยสารหลักจากรัสเซีย 1 ล้านคน และที่เหลือเป็นจีนและอื่นๆ ปี 2563 ผู้โดยสารลดลงเหลือ 5.64 แสนคน ปี 2564 มีผู้โดยสารเพียง 4.17 หมื่นคน ปี 2565 มีผู้โดยสาร 1.06 แสนคน สถานการณ์โควิดคลี่คลาย การบินเริ่มกลับมา ในปี 2566 มีผู้โดยสาร4.44 แสนคน และปี 2567 ช่วง 6 เดือน ในรอบตารางบินฤดูหนาวที่ผ่านมา มีผู้โดยสารแล้ว 2.8 แสนคน และคาดการณ์ทั้งปี จะมีผู้โดยสารจำนวน 6 แสนคน
ที่ผ่านมากองทัพเรือในฐานะผู้บริหารสนามบินอู่ตะเภา ได้พัฒนาปรับปรุงมาตรฐานการให้บนิการและความปลอดภัยตลอดจนทำการตลาดเพื่อดึงสายการบินเข้ามาให้บริการ โดยปัจจุบันมีสายการบินภายในประเทศให้บริการ 2 สายการคือ บางกอกแอร์เวย์ส ให้บริการเส้นทาง อู่ตะเภา-สมุย และเส้นทางอู่ตะเภา-ภูเก็ตจำนวน 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์(ทุกวัน) และสายการบินไทย ไลอ้อนแอร์ ให้บริการเส้นทาง อู่ตะเภา-เชียงใหม่ จำนวน 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ( อังคาร,พฤหัส,อาทิตย์)
ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ แบบประจำ มี สายการบิน ฟลายดูไบ ( Flydubai ) เปิดเส้นทางบินตรง อู่ตะเภา- ดูไบ (ทุกวัน) และแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) มีสายการบินอาซั่วแอร์ จากรัสเซีย