ความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม.
มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2569 โดยประกอบด้วย 15 สัญญา (งานโยธา 14 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา) ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอการลงนาม 3 สัญญา เชื่อมั่นต่อยอดพัฒนาโครงสร้าง เชื่อมโยงการคมนาคมภูมิภาค เพื่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของคนไทย
จากความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะและองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง 11 ด้านให้ไทย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการสร้างรางรถไฟ แนวทางปฏิบัติในการวางรางในภูมิประเทศต่าง ๆ การออกแบบสถานีรถไฟเพื่อให้ผู้โดยสารสัญจรไปมาได้ดีขึ้น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ ด้วยความเร็วที่เร็วขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง การออกแบบและสร้างอุโมงค์ที่ปลอดภัย รวมถึงการอบรมการบริหารรถไฟความเร็วสูง การซ่อมบำรุง และการขับรถไฟ เป็นต้น
คาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะนำขบวนรถรุ่น Fuxing Hao (ฟู่ซิงห้าว) CR300AF มาใช้วิ่งให้บริการ แบ่งประเภทที่นั่งได้ 3 ระดับ ได้แก่ ชั้นหนึ่ง (ที่นั่งแบบเก้าอี้เดี่ยว) ชั้นสอง (ที่นั่งประเภทธุรกิจ) และชั้นสาม ความจุ 600 คน/ขบวน ต่อพ่วงได้ 3-10 คัน/ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 5 หมื่นคน/ชั่วโมง/ทิศทาง
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีติดตามการทำงานตามแผนงาน เร่งสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานของไทย ช่วยเชื่อมโยงภูมิภาค ให้ความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง ซึ่งเป็นการขนส่งแห่งอนาคต ที่ถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า สามารถลดต้นทุน ทั้งด้านเวลา และค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ รวมถึงเป็นรูปแบบการขนส่งที่คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่จะช่วยสร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน ที่จะนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ